ท่านกลมหลวงชุมพรฯยังต้องสักยันต์กับหลวงพ่อขัน

หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระเกจิอยุธยาแห่งเมืองกรุงเก่า ยุคปี พ.ศ. 2460 คงไม่มีใครไม่รู้จักกิตติศัพท์ของพระเกจิชื่อดัง 2 รูป ด้วยกัน คือ หลวงพ่อกลั่นวัดพระญาติ และ หลวงพ่อขันวัดนกกระจาบ ซึ่งพระสงฆ์ทั้งสองรูปนี้ เก่งกาจและมีวิทยาคมสูง เน้นหนักไปทางด้าน “คงกระพันชาตรี” พูดกันภาษาชาวบ้านถึงความเก่งกาจในเรื่องความเหนียวคงกระพันชาตรี ของพระสงฆ์ทั้งสอบรูปนี้ เรียกได้ว่า “กินกันไม่ลง”

หลวงพ่อขันนั้น ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2415 ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ณ ต.วัดยม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา บิดา มารดา ชื่อ นายนายชื่น และนางส่วน คงสุขี หลวงพ่อขันมีพี่น้องรวม 4 คน หลวงพ่อขันเป็นบุตรชายคนโต ทางครอบครัวนั้นรักหลวงพ่อขันมากเป็นพิเศษ เพราะเมื่อหลวงพ่อขัน เกิดมา กิจการงานใดๆ ขอบครอบครัวก็ประสบผลสำเร็จจนทำให้มีฐานะดีขึ้นอย่างมาก แต่เมื่อหลวงพ่อขันอายุครบ 20 ปี จึงได้เข้าอุปสมบท ณ วัดวังตะโก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปี พ.ศ.2435 โดยมีพระพุทธวิหารโสภณ (อ่ำ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ส่วนนามพระอุปัชฌาย์ ไม่ทราบชัด ได้รับฉายาว่า “อินทปัญโญ” หลวงพ่อขันท่านได้กราบเป็นศิษย์หลวงพ่ออ่ำ วัดวงฆ้อง และหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และพระเกจิเก่งๆในยุคนั้นอีกหลายท่านด้วยกัน

หลวงพ่อขันวัดนกกระจาบ
หลวงพ่อขันวัดนกกระจาบ

 

นานวันเข้า หลวงพ่อขันนั้นก็มีชื่อเสียงในด้านสักอักขระยันต์ต่างๆ ซึ่งชื่อเสียงของท่านนั้นดังไปถึงบางกอก(กรุงเทพฯ) เลยทีเดียว ซึ่งชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียงนั้นให้ความเคารพรักศรัทธาท่านอย่างมาก และมักจะเดินทางไปให้ท่านสักยันต์ให้มากมาย เนื่องจากว่า ใครก็ตามที่ได้สักยันต์กับหลวงพ่อขันและได้ปฏิบัติตามยึดมั่นในคำสอนของท่าน จะพบแต่ความแคล้วคลาดปลอดภัยอยู่ยงคงกระพันทุกคนไป จนได้รับการกล่าวขวัญจากชาวกรุงเก่าว่า “ใครสักยันต์กับหลวงพ่อขัน จะถูกฟันแทงก็ไม่ต้องกลัว” ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจริงกับลูกศิษย์หลวงพ่อขันที่ไปโดนนักเลงต่างถิ่นรุมตีฟันแทง แต่ก็ต่อสู้เอาตัวรอดมาได้โดยไม่ได้รับอันตรายจากอาวุธใดๆเลย มีก็แค่แผลฟกช้ำเพียงเล็กน้อย จนทำให้บรรดาหนุ่มเล็กหนุ่มใหญ่ นักเลงในสมัยนั้นๆต่างก็เข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์กับท่านและสักยันต์กับท่านด้วยกันทุกคน ยันต์ที่ขึ้นชื่อมากๆ ของท่าน คือยันต์ บุตรพระราม คือ พระมงกุฎ และ พระลบ 2 กุมาร ซึ่งทั้งสองเป็นบุตรของพระรามและนางสีดา เมื่อนางสีดาคลอดพระมงกุฏออกมา พระรามแคลงใจ จึงให้พระลักษณ์นำไปประหาร แต่พระลักษณ์นำไปปล่อยไว้ในป่า อยู่กับพระฤๅษี และมีเหตุให้พระฤๅษีต้องสร้างพระลบขึ้นมา เหมือนกับพระมงกุฏ แต่นาสีดาก็ให้ถือว่าเป็นพี่น้องกัน ทั้งสองกุมารมีฤทธิ์มาก เล่นกันจนสะท้านสะเทือนไปทั่วแผ่นดิน พระรามได้ยินเข้าก็คิดว่ามีผู้มากฤทธิ์คิดจะทานอำนาจพระรามจึงส่งหนุมานไปกำราบ แต่หนุมานที่ว่าแน่ๆ มีอิทธิฤทธิ์มากมาย กลับต้องพ่ายแพ้ถูกสองกุมารรุมตีจนสลบไปหลายครา และถูกสองกุมารจับมัดไว้ จนพระรามต้องไปช่วย ซึ่งยันต์ พระมงกุฏ พระลบนั้น ถือเป็นยันต์ ที่มีอานุภาพมากๆ ข่มได้แม้กระทั่งยันต์หนุมานที่ว่าแน่ ๆไม่เคยพลาดท่าแพ้ใครง่ายๆ ยังต้องพ่ายแพ้ต่อ 2 กุมาร เรื่องสักยันต์นั้น ยังมีคนตำแหน่งใหญ่โตหลายท่านที่มาสักยันต์กับหลวงพ่อขัน เช่น กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ผู้เป็นศิษย์น้อง อาจารย์เดียวกันคือ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า), พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร, พระยาอุภัยพิพากสา, พ.ต.อ.พระยาอนันต์ยุทธกาจ จากบันทึกของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดาของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กล่าวไว้ว่า พระองค์(กรมหลวงชมพรฯ)ได้สักยันต์ “นะ” วิเศษกับหลวงพ่อขันวัดนกกระจาบ กรุงเก่า ที่กัณฐมณี(ลูกกระเดือก)

หลวงพ่อขัน ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระวินัยและชอบเดินธุดงค์ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามป่าตามดงยึดสันโดษ จึงทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก

สำหรับลูกศิษย์หลวงพ่อขันนั้นมีอยู่หลายองค์ ศิษย์เอกก็จะมีหลวงพ่อจงวัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อพรหมวัดขนอนเหนือ และหลวงพ่อเอียดวัดไผ่ล้อม ซึ่งเป็นพระเกจิน้ำดี ที่รู้จักและเป็นที่รักเคารพศรัทธาของคนกรุงเก่าอยุธยาอย่างมาก

พระเครื่องหลวงพ่อขันวัดนกกระจาบนั้น มีการสร้างไว้อยู่หลายประเภทด้วยกัน เช่น พระเนื้อดินเผาในยุคแรกๆ ของท่าน เหรียญหล่อ และเหรียญปั๊มรุ่นแรก ซึ่งเป็นเหรียญที่มีค่ามากในปัจจุบัน

หลวงพ่อขันท่านได้มรณภาพลงเมื่ออายุ 71 ปี 52 พรรษา ในปี พ.ศ. 2486 

หลวงพ่อขัน อินทปัญโญ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มากด้วยเมตตาธรรมและวิทยาคม เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก