หลวงพ่อปานวัดบางนมโค

พระเกจิอาจารย์ ชื่อดัง แห่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับสุดยอดพระเครื่องวัตถุมงคล เนื้อดินยอดนิยมแห่งยุค

หลวงพ่อปานวัดบางนมโค

หลวงพ่อปาน ท่านเกิดวันที่16 กรกฎาคม 2418 ตรงกับในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพี่น้องร่วม 7 คนบิดาชื่ออาจ สุทธาวงศ์ มารดาชื่ออิ่ม สุทธาวงศ์ โดยมีอาชีพการทำนาโยมบิดามารดาขนานนามท่านว่า"ปาน"เพราะท่านมีสัญญลักษณ์คือมีปานแดงที่นิ้วก้อยมือซ้ายตั้งแต่โคนนิ้วถึงปลายนิ้วท่านเกิดที่หมู่ 5 ตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ท่านอุปสมบทเมื่ออายุ 21 ปี เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2438 ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 7 ค่ำเดือน 5 ปีมะแมครับ โดยมีหลวงพ่อสุ่นวัดบางปลาหมอเป็นอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพนเป็นกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อุ่น วัดสุธาโภชน์เป็นอนุสาวนาจารย์ และได้รับฉายาว่า"โสนันโท"

 

ต่อมาท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อสุ่นพอสมควรแล้ว จึงได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดสระเกศ กรุงเทพฯ และเรียนอักขระเลขยันต์กับพระอาจารย์จีน วัดเจ้าเจ็ด ในพระนครศรีอยุธยา เรียนแพทย์แผนโบราณจากวัดสังเวชฯศึกษาเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย และ พระอาจารย์โหน่ง อิณฑสุวัณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองมะดันเรียนวิชาสร้างพระเครื่องดินจากชีปะขาว เรียนการปลุกเสกพระเครื่องและเป่ายันต์เกราะเพชรจากอาจารย์แจง สวรรคโลก ได้รับพระคาถาปัจเจกโพธิสัตว์มาจากครูผึ้ง หลังจากนั้น ท่านจึงได้มาอยู่ที่วัดบางนมโคและได้รับพระราชทานสัมณศักดิ์เป็น พระครูวิหารกิจจานุการ

กิจวัตรของท่านก็คือหลังจากท่านฉันภัตตาหารเพลแล้ว ท่านก็จะมาสงเคราะห์ชาวบ้าน ตลอดทั้งวัน และการทำน้ำมนต์เพื่อรักษาคนไข้ รวมทั้งผู้ที่ถูกกระทำคุณไสยด้วย หลวงพ่อปาน โสนันโทได้ละสังขารไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ตรงกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รวมสิริอายุได้ 63 ปี บวชพระมาได้ 42 พรรษา เหลือแต่มรดกที่ล้ำค่า เช่น พระเครื่องดินเผา ผ้ายันต์เกราะเพชร ผ้ายันต์ชนิดต่าง ๆ และพระคาถาปัจเจกโพธิสัตว์

หลวงพ่อปานท่านเป็นสหธรรมิก กับ หลวงปู่ยิ้มวัดเจ้าเจ็ด และหลวงพ่อจงวัดหน้าต่างนอก จนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาขนานนามให้ว่า "สามเสือแห่งเมืองกรุงเก่า" คือ พระหมอหลวงพ่อปาน เกจิอาจารย์หลวงพ่อจง เมตตาไหลหลงหลวงปู่ยิ้ม

พระเครื่องหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ต.บางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยาเป็นพระเครื่องที่ นักนิยมพระเครื่อง รู้จักกันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้

หลวงพ่อปานวัดบางนมโค 
พระเครื่องหลวงพ่อปาน

พระเครื่องหลวงพ่อปานนั้น ถึงแม้หลวงพ่อปานท่านมิได้ระบุไว้ว่า พระเครื่องของท่านแต่ละพิมพ์มีพุทธคุณ หรือ อนุภาพต่างกันก็ตาม แต่ในวงการพระเครื่องแล้ว นักนิยมพระเครื่อง ต่างเชื่อถือกันว่า พระเครื่องของหลวงพ่อปาน ในแต่ละพิมพ์ มีพุทธคุณที่เด่นต่างกัน จึงมีสำนวนที่กล่าวขวัญเกี่ยวกับพระพุทธคุณ ของพระเครื่องหลวงพ่อปาน ว่า“ นกทำนา ไก่หากิน เม่นเดินป่า ปลาค้าขาย ครุฑอำนาจ หนุมานรับราชการ”

นกทำนา หมายถึง พระเครื่องพิมพ์ ทรงนกของหลวงพ่อปาน ว่าดีในทางอำนวยความสำเร็จด้านเกษตร ทำไร่ทำนา เป็นพิมพ์ซึ่งต้องโฉลกกับผู้มีอาชีพเกี่ยวแก่การเพาะปลูกพืชพันธ์

ไก่หากิน หมายถึง พระเครื่องพิมพ์ทรงไก่ ว่ามีพุทธคุณนำไปในทางเมตตา มีลาภผล อำนวยความสำเร็จในการประกอบสัมมาอาชีพที่ต้องติดต่อกับผู้คนอยู่เสมอ

เม่นเดินป่า หมายถึง พระเครื่องทรงเม่น ว่ามีพทธคุณดีในทางคุ้มครองป้องกันภัย จากสัตว์ร้ายและ อาถรรพ์ของป่า เป็นพิมพ์ที่เหมาะกับผู้มีอาชีพ ซึ่งคลุกคลีอยู่กับป่าดงพงไพร

ปลาค้าขาย หมายถึง พระเครื่องพิมพ์ทรงปลา ของหลวงพ่อปานว่า มีพุทธคุณทางค้าขาย โดยเฉพาะอย่าง ยิ่ง ค้าขายทางน้ำ

ครุฑอำนาจ หมายถึง พระเครื่องพิมพ์ทรงครุฑ ของหลวงพ่อปานว่ามี พุทธคุณดีในทางมหาอำนาจ มีคนเกรงกลัว

หนุมานรับราชการ หมายถึง พระเครื่องพิมพ์ทรงหนุมานของหลวงพ่อปานว่ามีพุทธคุณในทางอำนวยความสำเร็จ ในการรับอาสา อันได้แก่ ผู้มีอาชีพในทางรับราชการ ตลอดจนผู้มีอาชีพรับจ้างต่างๆทั่วไป

พระหลวงพ่อปานวัดบางนมโค มีความหมายที่สำคัญในการใช้ทุกพิมพ์