แห่พระเครื่องอย่างไร ไม่ตกควาย!

การแห่พระเครื่อง  คือการนำพระเครื่องที่เราสงสัยว่า แท้ หรือ เก๊ ไปไห้เซียนพระที่สนามพระดูว่า แท้ หรือ เก๊ มีขั้นตอนสำคัญ ดังนี้

ปัญหาของการแห่พระเครื่อง 

1. จะต้องแห่กับเซียนแท้ หรือเข้าสนามท่าพระจันทร์ ห้างพันทิพท์ ?

2.เซียนพระที่ดูให้ จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเราหรือไม่ ?

วิธีการแห่พระเครื่องที่ถูกต้อง 

เซียนพระทุกคนถ้าไม่สนิดสนมกันเป็นการส่วนตัวแล้ว จะไม่ดูพระให้โดยไม่มีการซื้อขายเด็ดขาด เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาภายหลัง เช่น หากท่านไปเช่าพระจากเซียน A แล้วมาให้เซียน B ดู ปรากฏว่า เซียน B บอกเป็นของเก๊ ก็จะกลายเป็นปัญหาตามมา อาจเกิดความขัดแย้งถึงขั้นนองเลือด ก็เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตที่เคยเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่าพระท่าน เก๊-แท้ ก็ให้ไปแห่ ก็คือบอกขาย ดังวิธีต่อไปนี้

1. ต้องหาเซียนพระแท้ก่อน หรือเข้าสนามท่าพระจันทร์ ห้างพันทิพย์งามวงศ์วาน หรือ ศูนย์พระใหญ่ทั่วๆไป

2. นำพระที่ต้องการแห่ให้เซียนพระดู โดยเสนอราคาขายด้วย ต้องเป็นราคากลางปัจจุบัน ซี่งท่านต้องสืบหา ราคากลางพระรุ่นนั้นๆไว้ก่อน และเซียนพระจะไม่เป็นผู้เสนอราคาซื้อกับท่านแน่นอน แต่จะให้ท่านเสนอราคาขายเองกรณีที่สนใจจะซื้อ ส่วนท่านจะขายกี่สิบล้าน กี่ร้อยล้านก็แล้วแต่ท่าน แต่ต้องเป็นราคากลาง ถ้าท่านเสนอราคาต่ำมากเขาสามารถซื้อทำกำไรได้มากก็ซื้อในทันที แต่ถ้าเสนอราคาไว้สูงมากเขาก็ไม่ซื้อ แต่ถ้าราคากลางก็อาจมีต่อรองราคากันไปตามสมควร

3. ถ้าพระแท้หรือเซียนพระดูว่าแท้ ก็จะต่อรองราคา เพราะเซียนพระจะเช่าบูชาในราคาประมาณ 30-50 % ของราคาตลาด 

 

4. ถ้าเราไม่ต้องการให้เช่าบูชา ก็ลดราคาจากที่เสนอลงเล็กน้อย เมื่อเซียนต่อราคาไม่ได้ก็ไม่ซื้อ เราก็นำพระกลับได้ (แสดงว่าพระเราอาจเป็นพระแท้และมีราคา จึงมีการให้เสนอราคาซื้อขาย)

5. พระที่ผ่านการแห่หลายครั้ง แล้วมีเซียนพระสนใจให้เราเสนอราคา ทุกครั้งก็แสดงว่าเป็นพระแท้ ดูง่าย (แบบนี้ยิ่งสบายใจว่าแท้ เพราะทุกคนต้องการซื้อ)

6. ถ้าพระที่แห่มีเซียนสนใจบ้าง ไม่สนใจบ้าง นั่นคงเป็นพระดูยากหรือพระที่วงการไม่นิยม อาจเป็นพระแท้ไม่มีราคาเล่นหามากนัก หรือนิยมเป็นลักษณะ สายใคร สายมัน บางคนไม่ถนัดพระสายนั้นๆ ก็อาจไม่สนใจ บางคนถนัดพระสายนั้นๆ ก็สนใจเพราะสามารถนำไปทำกำไรได้

7. ถ้าพระที่แห่ไม่มีเซียนสนใจเลยก็อาจเป็นพระ เก๊ แน่นอน หรือพระที่วงการไม่เล่นกันเลย ไม่มีอยู่ในสารบบ หรือเป็นพระแท้แต่ไม่มีราคา ไม่เล่นหาในวงการ เช่น พระแจกงานศพ พระใส่ซองกฐิน ผ้าป่า จากทางวัดที่ไม่เป็นที่รู้จัก หรือไม่ทราบประวัติการจัดสร้าง หรือพระเกจิท่านใดปลุกเสกอย่างชัดเจน

ท่านทราบหรือไม่ 

1. ไม่มีเซียนพระคนใดชำนาญพระเครื่องทุกชนิด 

2. เซียนพระที่ชำนาญพระเครื่องชนิดนั้นๆ เช่น พระกรุ พระเกจิสายตรง เนื้อดิน เหรียญ ก็ไม่ใช่ว่าจะดูพระได้ถูกต้อง100% ทุกองค์ 

3. การแห่พระเครื่องหรือเช็คพระ ควรแห่ให้ถูกวิธี แล้วนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ด้วยวิจารณญาณว่า แท้ หรือ เก๊ด้วยตัวของท่านเอง 

4. พระแท้หรือเก๊ คนตัดสินก็คือเจ้าของพระโดยใช้ข้อมูลจากเซียนพระผู้ชำนาญสายนั้นๆ หลายๆ ท่าน 

5. อย่าเล่นพระด้วยหู ควรเล่นด้วยตาของเราเอง หรือปรึกษาเซียนพระสายนั้นๆ หลายๆ ท่าน 

6. พระเครื่องมีมูลค่าเพราะมีผู้เช่าบูชา ไม่ใช้เพราะเจ้าของพระ เช่น พระสมเด็จแท้แต่ดูยาก ไม่มีผู้เช่าบูชาก็เสมือนไม่มีมูลค่า แต่เจ้าของพระมักตีราคาไว้หลอกให้ตัวเองสบายใจต่างหาก 

7. ควรเช่าบูชาพระเครื่องที่มีอนาคตดี ไม่ใช่เช่าบูชาตามเราชอบ มิฉะนั้นท่านจะขาดทุนทุกครั้งที่เช่าบูชา 

8. พระในรุ่นเดียวกัน ราคาจะไม่เท่ากัน ต้องดูตามสภาพด้วย พระในรุ่นเดียวกันบางองค์ขายได้เป็นหมื่น บางองค์ขายได้หลักพันหรือหลักร้อย ต้องขึ้นอยู่กับสภาพพระ ความสวยของพระ ความที่มีสภาพเดิมๆ ของพระด้วย การจัดเก็บที่ดีและถูกต้องจะทำให้พระท่านราคาไม่ตก พระบางองค์ จมูกโด่ง ผิวเดิม พระบางองค์จมูกบี้ ผิวเปิด ราคาก็แตกต่างกัน

ข้อเตือนใจในการเล่นพระทุกชนิด 

1. พระ ที่ราคาถูกผิดปกติ ควรระมัดระวัง เพราะอาจเป็นพระที่มีปัญหา เช่น พระดูยาก พระเก๊ พระซ่อม พระชำรุดหรือพระที่ถูกฃโมยมา ดังนั้นควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ 

2. พระที่เซียนขายผิดราคา เพราะอาจเป็นพระที่มีปัญหาเพราะวิสัยเซียนเรื่องตกควายเป็นเรื่องยากเพราะสามารถแห่ขายได้ทั่วสนามพระอยู่แล้ว 

3. พระ แอบขาย เช่น มีคนเอาพระมาขายเงียบ ๆ แล้วกระซิบว่า อย่าบอกใครนะเป็นพระผู้ใหญ่ร้อนเงินให้เอามาขายให้ ถ้าคนอื่นรู้จะเสียชื่อ ที่จริงแล้ววัตถุประสงค์ส่วนใหญ่จะแอบขายเงียบๆ ต่างหากละครับ 

4. พระ ร้อนขายเพราะเสียพนัน เสียบอล มักจะเป็นการอ้างมากกว่าเพราะคนเล่นพระมักเล่นเป็นกลุ่ม เมื่อมีปัญหามักจะผ่านกลุ่มก่อน มีแต่เซียนแอบเท่านั้น มักจะฉวยโอกาสนี้แอบขายเพราะพระมีปัญหาต่างๆครับ 

5. "เล่นพระ อย่าโลภ"โลภเป็นโดนทุกครั้งนะ จะบอกให้ 

ปัจจุบันนี้มีเว็บไซต์พระเครื่อง หลายเว็บไซต์รับออกบัตรรับรองพระแท้ ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายในการออกบัตรรับรองแล้วแต่สถาบัน แต่บัตรรับรองนั้นก็ใช่ว่าจะใช้ยืนยันความเป็นพระแท้ได้ทั่วราชอณาจักร ก็อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า ไม่มีเซียนคนใดชำนาญพระทุกชนิด แต่หากออกบัตรรับรองมาได้แล้ว ก็อาจอุ่นใจได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น เราควรนำไปให้ผู้ชำนาญในสายพระเครื่องนั้นๆตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง หรือท่านอาจศึกษาทางอินเตอร์เน็ตก็ได้