วัดบ้านแพน หลวงพ่อพูน

ท่องเที่ยวอยุธยา กราบหลวงพ่อพูนวัดบ้านแพน หนึ่งในสามพระเกจิอาจารย์นามมงคลา “รวย เพิ่ม พูน” แห่งแผ่นดินอยุธย เจ้าของเคล็ดวิชาตะกรุดดอกไม้ทองอันลือลั่น จำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ณ วัดแห่งนี้ นั่นคือ “หลวงพ่อพูน ฐิตสีโล” แห่งวัดบ้านแพน

วัดบ้านแพน อยุธยา 
วัดบ้านแพน

ครั้งนี้ “เจ็ดวัดดอทคอม” ขอนำท่านไปเที่ยววัดไหว้พระ ณ วัดบ้านแพน เนื่องจากมีน้องๆที่ทำธุรกิจส่วนตัวอยู่ในกรุงเทพ อยากจะมากราบไหว้สักการะขอพรพระเกจิที่มีนามมงคลแห่งแผ่นดิน “รวย เพิ่ม พูน” เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่การดำเนินชีวิตและธุรกิจ ในครั้งนี้น้องๆ เดินทางมาจากกรุงเทพ มาถึงอยุธยาสายไปหน่อย เกือบๆเที่ยงวัน ก็แวะรับประทานอาหารกันก่อนเดินทางจากตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ใช้ถนนเส้นทาง อยุธยา-เสนา-สุพรรณบุรี เมื่อเดินทางออกจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มุ่งหน้าไปสู่อำเภอเสนา ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ก็กลับรถใต้สะพานวัดสามกอ เข้าสู่อำเภอเสนา วิ่งไปทางสถานีขนส่งอำเภอเสนา ก็จะพบวงเวียนหอนาฬิกา ให้วนเลี้ยวขวา จะเห็นป้ายทางเข้าวัดบ้านแพน ขับรถเข้าไปในซอยสักระยะ ก็จะพบทางเข้าวัดบ้านแพน สามารถนำรถเข้าไปจอดใกล้ๆมณฑปวัดบ้านแพนได้นะครับ

 

วัดบ้านแพน อยุธยา 
วัตถุมงคล ตะกรุดดอกไม้ทอง
วัดบ้านแพน อยุธยา 
หน้ากุฏิหลวงพ่อพูนวัดบ้านแพน

ภายในมณฑปมีวัตถุมงคลหลวงพ่อพูน ให้บูชาหลายรายการ เลยมณฑปเข้าไปจะเป็นกุฏิหลวงพ่อพูน ซึ่งมีป้ายติดไว้ชัดเจนครับ ผมเข้าไปเคาะประตูท่าน ได้ยินเสียงอนุญาตให้เข้ามาก็พบกับท่านกำลังจำวัด พักผ่อนด้วยอิริยาบถสบายๆ ครับโดยภายในก็มีลูกศิษย์ท่านหลายคนกำลังช่วยกันทำงานอยู่ภายในกุฏิท่าน ผมได้พาน้องๆไปกราบท่านใกล้ๆ ท่านก็ลุกขึ้นมาต้อนรับด้วยความอารมณ์ดี พูดคุยเป็นกันเอง และแจกพระสมเด็จมหาลาภให้คนละ 1 องค์ เราทั้งหมดได้ไปเช่าบูชาวัตถุมงคลจากมณฑป คือ ตะกรุดดอกไม้ทอง ซึ่งเป็นสุดยอดตะกรุดของท่าน ไปคนละ 1 ดอก ซึ่งมี 7 สีประจำวันเกิด ใครเกิดวันอะไรก็บูชาสีประจำวันกันไป ซึ่งหลวงพ่อพูนท่านได้เมตตาอธิฐานจิตและลงเหล็กจารอักขระให้ด้วยที่ปลอกตะกรุดดอกไม้ทอง ซึ่งเชื่อกันว่า ตะกรุดดอกไม้ทองของท่านนี้ มีพุทธคุณในทุกๆด้าน เน้นทางด้านเมตตามหาเสน่ห์โชคลาภค้าขายร่ำรวยพูนทวี และยังใช้ในทางแคล้วคลาดคงกระพันได้ด้วยในยามขับขัน ซึ่งท่านได้ร่ำเรียนวิชาการสร้างตะกรุดดอกไม้ทองจากสุดยอดพระเกจิอย่างหลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง ป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นยอดอาคมด้านเมตตามหานิยมและมหาอุตย์หยุดปืน

วัดบ้านแพน อยุธยา 
หลวงพ่อพูนในอริยาบทผักผ่อนในกุฏิหลังเพล

ภายหลังจากที่ทุกคนได้รับตะกรุดดอกไม้ทอง หลวงพ่อพูนท่านก็เมตตาให้หลักคำสอนว่า การใช้วัตถุมงคเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ อย่าได้ด่าว่าให้ร้ายใครทั้งสิ้นชีวิตก็จะดีมีความสุข และให้เคารพซึ่งบุพการี ไหว้พ่อไหว้แม่ซึ่งเปรียบเหมือนกับพระอรหันต์ของบ้าน หากทำได้อย่างนี้ ชีวิตก็จะเจริญก้าวหน้า ทำมาค้าขายร่ำรวยพูนทวี

วัดบ้านแพน อยุธยา 
หลวงพ่อพูนวัดบ้านแพน
วัดบ้านแพน อยุธยา 
หลวงพ่อพูนลงเหล็กจารอักขระตะกรุดดอกไม้ทอง

สำหรับมูลเหตุของการตั้งชื่อวัดนั้น ตำนานของท้องถิ่นบอกไว้ว่า แต่เดิมมีสำเภาใหญ่ล่องมาทางคลองรางจระเข้ โดยหารู้ไม่ว่า บริเวณปากคลองนี้มีกระแสน้ำวนเชี่ยวกราก สำเภาจึงเสียการทรงตัว กระแทกเข้าริมตลิ่ง แล้วบ่ายหัวไปอีกทาง สำเภากระทบกระทั่งทุกอย่างที่ขวางหน้าอย่างไร้ทิศทาง จนเรือล่วงเข้าสู่ท้ายคลองจึงจมลงอย่างสงบนิ่ง มีเพียงเสากระโดงโผล่ขึ้นเหนือน้ำ ส่วนข้าวของและสัมภาระที่ติดมากับเรือต่างลอยกระจายอยู่ทั่วไป ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ ต่างเข้าช่วยตามกำลัง ส่วนหนึ่งลากเอาเสื่อลำแพนที่ลอยไปติดเนินดินขึ้นตากแดดจนแห้ง ภายหลังจึงเรียกชื่อแห่งนั้นว่า “บ้านแพน”ส่วนกกที่ลอยไปติดใกล้โคกใหญ่ชาวบ้านได้ช่วยกันนำตากบนโคก จึงเรียกบริเวณนั้นว่า “โคกเสื่อ” ส่วนพ่อค้าสำเภา หลังจากเรืออับปาง ก็ตัดสินใจสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นจุดเตือนใจในสัจธรรมของชีวิต และนำเสากระโดงเรือตั้งไว้เป็นสัญลักษณ์ แล้วขนานนามวัดว่า “วัดเสากระโดงทอง” บริเวณที่นำเสื่อลำแพนไปตากนั้น เป็นพื้นที่ในการครอบครองของวัดจันทรคูหาวาส ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาชาวบ้านจึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดบ้านแพน” ส่วนเนินดินนั้นเมื่อสายน้ำเปลี่ยนทิศทางผ่านมายังจุดนั้น จึงกลายเป็นชุมทางเรือและการค้าขาย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอเสนา

วัดบ้านแพน ตั้งอยู่เลขที่ 125 หมู่ 1 ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อ“วัดจันทรคูหาวาส”สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ. 2280 ภายหลังจากเสียกรุง ครั้งที่ 2 วัดบ้านแพนต้องได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ผ่านทัพของพม่า ต่อมาเมื่อพระยาวชิระปราการ หรือเจ้าพระยาตาก ได้กอบกู้เอกราช และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงธนบุรี ทรงเร่งทำนุบำรุงบ้านเมืองเป็นการใหญ่ ทั้งพระนครที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ และในส่วนของกรุงศรีอยุธยาเดิม วัดบ้านแพน ก็เช่นเดียวกัน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2320 ภายหลังจากกอบกู้เอกราช แต่มิได้ระบุไว้ว่าใครเป็นผู้ดำเนินการ ภายหลังจึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2325 ปัจจุบันสิ่งที่เป็นหลักฐานหลงเหลือจากอดีต ก็คือ พระประธานในอุโบสถ ที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปสลักจากหินศิลาแรง ศิลปะสมัยอู่ทอง

บริเวณพื้นที่ตั้งวัดบ้านแพนแต่เดิมนั้นเป็นที่ราบลุ่ม อยู่ริมแม่น้ำแควน้อย มีเนื้อที่ 34 ไร่ 1 งาน 67 ตารางวา

เครดิตภาพถ่ายของผมซึ่งเคยเผยแพร่ในเว็บไซต์ เจ็ดวัดดอทคอม ที่ปิดไปแล้วครับ