กรุคลองตะเคียน

กริ่งคลองตะเคียน สุดยอดคงกระพันชาตรี ในตำนาน ความวิจิตรของอักขระเลขยันต์และกรรมวิธีการสร้างออกแบบได้อย่างสวยงามลงตัว

 พระกริ่งคลองตะเคียน มีลักษณะที่เป็นพระเนื้อดินผสมกับใบลานเผาไฟเป็นเนื้อเดียวกัน นำมาจัดสร้างเป็นพระและเหตุที่เรียกพระกริ่งก็เนื่องจากด้านในองค์พระจะบรรจุวัตถุบางอย่างไว้ เมื่อเวลาเขย่าองค์พระจะรู้สึกว่ามีอะไรกลิ้งไปมาอยู่ด้านใน คล้ายกับพระกริ่งเนื้อโลหะที่เวลาเขย่าก็จะมีเสียง สำหรับชื่อ คลองตะเคียน ตามหลังมา ก็คือสถานที่ๆพบพระกรุนี้นั่นเอง 

พระกริ่งคลองตะเคียน

พระกริ่งคลองตะเคียน

สำหรับอายุ พระกรุคลองตะเคียน นั้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพระที่สร้างขึ้นปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง เมื่อสังเกตพุทธลักษณะขององค์พระจะพบว่าพิมพ์นั้นคล้ายกับพระคงลำพูน ซึ่งพระกริ่งคลองตะเคียนนั้นแบ่งประเภทเป็น หน้าเดี่ยว, สองหน้า, ปลายแหลม, ปลายมน สำหรับพระประเภทหน้าเดียวนั้น บริเวณด้านหลังจะอูมออกมา และมีร่องรอยของการจารอักขระเลขยันต์ แบบจารเปียก แต่เดิมทุกองค์

 

พระกริ่งคลองตะเคียน นั้น ได้ถูกพบเจอในสถานที่อาณาบริเวณลุ่มน้ำคลองตะเคียน ตำบลคลองตะเคียน อยู่เรี่ยไปตามพื้นดิน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นพระอารามเก่าแก่โบราณ 

พระอารามที่พบ พระกริ่งคลองตะเคียน มีดังนี้

1.วัดโคกจินดา พระกริ่งคลองตะเคียนที่พบในวัดโคกจินดานี้ จะมีพุทธศิลป์และเนื้อหาที่ประณีตสวยงาม รอยจารจะหวัดและเป็นเอกลักษณ์อย่างลงตัว ซึ่งจะมีหลายพิมพ์ คือ    

   1.1.พระกริ่งคลองตะเคียน "พิมพ์หน้าใหญ่"

   1.2.พระกริ่งคลองตะเคียน "พิมพ์หน้าเล็ก"

   1.3.พระกริ่งคลองตะเคียน "พิมพ์หน้ามงคล"   

1.4.พระกริ่งคลองตะเคียน "พิมพ์หน้าฤๅษี"

1.5.พระกริ่งคลองตะเคียน "พิมพ์พระปิดตา"

พระกริ่งคลองตะเคียน

2.วัดสำเภาล่ม (วัดทำใหม่) สำหรับวัดนี้จะมีพุทธศิลป์และรอยจารที่แตกต่างจากวัดโคกจินดา คือ รอยจารจะบรรจงสวยงามแตกต่างกันอย่างชัดเจน พิมพ์ที่พบในวัดนี้ ได้แก่

   2.1.พระพิมพ์สมาธิ

   2.2.พระพิมพ์ปิดตามหาอุตม์

พระกริ่งคลองตะเคียน

3.วัดช้าง พุทธศิลป์วัดนี้จะด้อยกว่า 2 วัดแรก โดยสิ้นเชิง พิมพ์พระจะไม่ประณีตและลายมือจารก็จะลึก หนา เขื่องๆ ดูดุดันแฝงไปด้วยความเข้มขลัง 

สำหรับพระกริ่งคลองตะเคียนทั้ง 3 วัดนี้ ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่ามีการสร้างขึ้นในยุคใด สมัยใด และใครเป็นคนสร้าง บ้างก็มีการสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ช่วงศึกสงคราม บ้างก็ว่าสร้างในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประมาณยุครัชกาลที่ 2-3 บ้างก็ว่าเป็นพระสร้างขึ้นเพื่อแจกให้ผู้ร่วมทำบุญในยุคสมัยนั้นๆ และมีเก็บไว้ในกรุบ้างแต่พบไม่มากนัก 

พระกริ่งคลองตะเคียน

แต่ถึงอย่างไร พระกริ่งคลองตะเคียน ก็เป็นพระตระกูลหนึ่งที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด ด้วยพุทธคุณที่กล่าวขานกันมายาวนาน พุทธศิลป์และเนื้อหา กรรมวิธีการจัดสร้างการออกแบบแกะพิมพ์ การสร้างเม็ดกริ่ง และการลงอักขระเลขยันต์ ล้วนแล้วแต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา      

หมวด: บทความ พระกรุ
ฮิต: 140