กรุวัดพุทไธศวรรย์

พระกรุเนื้อชินเงิน ยุคต้นของอณาจักรอยุธยา จัดเป็นพระยอดขุนพลแห่ง พระเครื่องเมืองกรุงศรีอยุธยา ด้วยความสวยงาม วิจิตร ตระการตา จากฝีมีช่างกรุงศรีอยุธยาฝากไว้

กรุวัดพุทไธศวรรย์
กรุวัดพุทไธศวรรย์

วัดพุทไธศวรรย์ เดิมคือตำหนักของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาก่อนที่จะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี ครั้งเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงได้โปรดให้สร้างวัดพุทไธศวรรย์ขึ้น เพื่อเป็นราชาอนุสรณ์ ซึ่งวัดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวัดที่ไม่ได้ถูกพม่าเผาทำลายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้าย  ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ ปรางค์ประธาน องค์ใหญ่ศิลปะแบบขอม ตั้งอยู่กึ่งกลางอาณาเขตพุทธาวาสบนฐานไพที ซึ่งมีลักษณะย่อเหลี่ยมมีบันไดขึ้น 2 ทาง คือ ทางทิศตะวันออก และทางทิศตะวันตก

 

ส่วนทิศเหนือทิศใต้มีมณฑปสองหลังภายในพระมณฑปมีพระประธาน พระตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ประจำอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำหนักนี้อยู่ในสภาพค่อนข้างทรุดโทรมแต่ภายในผนังของตำหนัก มีภาพสีเกี่ยวกับเรื่องหมู่เทวดา นักพรต นมัสการพระพุทธบาท  และเรือสำเภา  ตอนพระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา ภาพเหล่านี้อยู่ในสภาพไม่ชัดเจนนัก นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของปรางค์ หมู่พระเจดีย์สิบสององค์,วิหารพระนอน และตำหนักท้าวจตุคามรามเทพ

พระกรุวัดพุทไธศวรรย์

พระปรุหนังวัดพุทไธศวรรย์ ถือว่าเป็นพระยอดขุนพลเมืองกรุงเก่าทีเดียว พระปรุหนัง เป็นพระที่เลิศ ด้วยศิลปสมัยอยุธยาตอนต้น มีความวิจิตรสวยงามตระการตา ด้วยจินตนาการประติมากรรมของช่าง ชาวอโยธยา ท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดของสงครามที่คุกกรุ่นมาโดยตลอด 417 ปี สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.1915 ยุคสมัยอยุธยาตอนต้น สำหรับที่มาของชื่อ "ปรุหนัง" ด้วยพระปรุหนัง เป็นพระพิมพ์แบบฉลุ เน้นพุทธลักษณะ และรายละเอียดต่างๆ คล้ายกับการฉลุโปร่งในตัวละคร ของหนังตะลุง นักเลงพระยุคแรกๆ จึงขนานนามพระพิมพ์นี้ว่า "ปรุหนัง" และเรียกขานกันมา จนถึงปัจจุบันนี้

เนื้อพระ เท่าที่พบก็มี เนื้อชินเงิน ซึ่งมีทั้งผิวสนิมดำ และผิวขาวปรอท, เนื้อชินปนตะกั่ว หรือที่เรียกกันว่า "ชินสังขวานร" มีความอ่อนตัวบิดงอได้เล็กน้อย และเนื้อดินเผา ซึ่งเนื้อดินเผานั้น ไม่ได้รับความนิยม เพราะจำนวนพระ ขึ้นจากกรุไม่มากนัก

พระกรุวัดพุทไธศวรรย์
พระกรุวัดพุทไธศวรรย์

พระปรุหนัง อยุธยา เท่าที่พบและเล่นหากันเป็นมาตรฐานสากล มีอยู่ทั้งหมด 5 พิมพ์ด้วยกัน คือ 

1. พิมพ์บัวเบ็ด เป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด

2. พิมพ์บัวก้างปลา ซึ่งแยกออกได้อีก เป็น 2 แบบ คือ บัวถี่ และ บัวห่าง

3. พิมพ์บัวกลีบ แบบขนมต้ม

4. พิมพ์ลีลา

5. พิมพ์เดี่ยว