กรุวัดเจ้าเจ็ดใน

พระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง และพระเนื้อดินยอดนิยม กรุวัดเจ้าเจ็ด ถือเป็นสุดยอดพระเครื่องที่ชุมชนคุ้งน้ำเจ้าเจ็ดศรัทธาและหวงแหนกันมาก ปัจจุบันมีความนิยมในผู้ที่ชื่นชอบศรัทธาพระเครื่องโดยทั่วไปทั่วประเทศ 

วัดเจ้าเจ็ดใน ตั้งอยู่ที่ริมคลองเจ้าเจ็ดซึ่งเป็นทางไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบัน วัดเจ้าเจ็ดในตั้งอยู่ที่ 34 ถนนสุขาภิบาลเจ้าเจ็ด หมู่ที่ 3 ตำบลเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา วัดเจ้าเจ็ดในเกิดขึ้นหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าใหม่ๆปี พ.ศ.2310 ท้องที่เจ้าเจ็ดเป็นดินแดนลุ่มลาดซึ่งเป็นป่ารกร้างมาก จึงเป็นที่อาศัยของสัตว์ร้ายเช่น จระเข้ ช้าง เสือ เป็นต้น และเป็นที่ลี้ภัยสงครามพม่าของเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ในครั้งนั้น เมื่อเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ทั้งหลายลี้ภัยมาพักอาศัยอยู่ที่ตำบลนี้ ซึ่งคงนับได้ 7 พระองค์ จึงได้สร้างปูชนีย์วัตถุไว้ ต่อมาประชาชนจึงได้ถือเอาที่นี้เป็นวัด จึงได้ซื่อว่า “วัดเจ้าเจ็ด”ต่อมาภายหลังได้เกิดวัดขึ้นอีกวัดตั้งอยู่ทิศเหนือ มีเนื้อที่ติดต่อกัน ดังนั้นวัดเจ้าเจ็ดจึงมีคำว่า “ใน” ต่อท้าย ต่อมาปี 2449 พระธรรมดิลก (อิ่ม) กับพระอุปัชฌาย์ ปั้น เป็นเจ้าอาวาสขณะนั้นเป็นหัวหน้าประชาชน ชาวเจ้าเจ็ด และกรุงเทพ ร่วมกันสร้างโรงอุโบสถขึ้นโดยสร้างทับที่ของเดิม และผูกพัทธสีมาเมื่อปี 2450 เจ้าอาวาสที่สืบทราบนามได้ มี 5 รูป

1. พระอาจารย์จีน (พระอาจารย์ สอนพระปริยัติธรรม และภาษาบาลี ให้กับหลวงพ่อปานวัดบางนมโค และหลวงปู่ยิ้ม วัดเจ้าเจ็ด) 

2. พระอุปัชฌาย์ ปั้น

3. พระครูพรหมวิหารคุณ (หลวงปู่ยิ้ม)

4. พระอาจารย์คำ (รักษาการ)

5. พระครูเสนาคณานุรักษ์

พระกรุวัดเจ้าเจ็ดนั้น ต้องแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ด้วยกัน คือ พระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง และพระเนื้อดินเผา

กรุวัดเจ้าเจ็ด

พระกรุวัดเจ้าเจ็ดเนื้อชินสนิมแดง

พระเนื้อชินสนิมแดง ที่พบในวัดเจ้าเจ็ด ตามพระเจดีย์เก่าๆที่ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ซึ่งในอดีตมีคนร้ายใช้วิธีการตกพระโดยการ นำดินเหนียวปั้นเป็นก้อนแล้วผูกกับสายเอ็น หย่อนลงไปตามโพรงที่แตกของเจดีย์ ซึ่งก็จะติดพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง พิมพ์ต่างๆ ขึ้นมา สัญนิษฐานกันได้ว่าเป็นพระเครื่องของ พระอาจารย์จีน วัดเจ้าเจ็ด

พระอาจารย์จีนวัดเจ้าเจ็ด
พระอาจารย์จีนวัดเจ้าเจ็ด

ตามประวัติที่ได้ทราบ พระอาจารย์จีนนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดเจ้าเจ็ดองค์แรกตามหลักฐานต่างๆที่มี ซึ่งก่อนหน้านั้นจะมีพระอาจารย์อื่นๆอีกหรือไม่ก็ไม่สามารถพบประวัติหรือหลักฐานใดๆ แต่ที่แน่ชัดคือ พระอาจารย์จีน ท่านเป็นสุดยอดปรมาจารย์ในยุคนั้น ท่านเก่ง อักขระ เลขยันต์ และวิชาคาถาอาคม ซึ่งสืบทอดมาจากครั้งกรุงศรีอยุธยาราชธานีเก่า ชื่อเสียงและความเก่งกาจของพระอาจารย์จีนจีนขจรขจายไปทั่วสารทิศ ทำให้มีพระหนุ่ม เณรน้อย ต่างเดินทางมาร่ำเรียนวิชากับท่านมากมายในอดีต บางครั้งก็มีที่เดินทางมาจากกรุงเทพ และต่างจังหวัด ซึ่งการเดินทางในสมัยนั้นก็เต็มไปด้วยป่ารกร้าง เส้นทางคมนาคมแสนยากลำบากต้องเดินทางผ่านป่าดงและลงเรือผ่านแม่น้ำลำคลอง อีกทั้งต้องเสี่ยงภัยอันตรายมากมายจากเสือและช้างป่า แต่ก็มีพระเณรมากราบขอเป็นศิษย์กับพระอาจารย์จีนมากมาย จนต้องตั้งเป็นสำนักเรียนที่วัดเจ้าเจ็ด พระเกจิที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้และได้เป็นศิษย์กับพระอาจารย์จีนก็มี หลวงปู่ยิ้มวัดเจ้าเจ็ด หลวงปู่คำวัดเจ้าเจ็ด หลวงพ่อปานวัดบางนมโค ฯลฯ  เป็นที่โจษขานกันมากว่าพระอาจารย์จีนวัดเจ้าเจ็ดนั้น เป็นพระอาจารย์ที่ดุมาก เมือถึงเวลาสอนพระเณร จะให้พระเณรนั่งเรียงราย เป็นแถวบนศาลา ส่วนท่านนั้น จะเดินเข้าไปนั่งในกรงเหล็ก ล็อกกุญแจ แล้วเอากุญแจโยนให้ลูกศิษย์ที่นั่งเรียนเก็บไว้ หากใครที่เรียนกับท่านแล้วปฏิบัติหรือท่องจำอ่านเขียนไม่ได้ดังใจท่าน ท่านจะลุกขึ้นมาต่อว่าอย่างหัวเสีย เขย่าลูกกรงเอ็ดตะโร จนพระเณรต่างหวาดกลัวท่านกันมาก ตามคำบอกเล่า ของหลวงพ่อปานวัดบางนมโค ว่าท่านเป็นพระอาจารย์ที่ดุและมือไวเป็นอย่างมาก ลูกศิษย์คนไหนทำให้ท่านโกรธ ก็จะโดนทำโทษถึงหัวร้างข้างแตกไปเลยก็มี ท่านจึงต้องขังตัวเองเวลาสอนนักเรียน

กลับมาพูดถึงพระเครื่องที่พบในกรุเจดีย์วัดเจ้าเจ็ดนั้น สัญนิษฐานตามคำบอกเล่าของชาวคุ้งน้ำเจ้าเจ็ดว่ากันว่าพระอาจารย์จีนเป็นผู้สร้าง เมื่อประมาณปี 2440 มีหลายพิมพ์ แล้วใส่กรุตามเจดีย์เล็กใหญ่ที่อยู่รายรอบวัด เมื่อเจดีย์ถูกน้ำท่วมและทรุดโทรมตามกาลเวลาจึงเกิดการแตกร้าว ก็มีคนใช้ดินเหนียวลักลอบตกพระในพระเจดีย์ก็จะได้พระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงติดขึ้นมา แต่ก็ไม่มากนัก เพราะบางครั้งก็อาจไม่ได้ติดขึ้นมา ภายหลังมีการบูรณะวัดเจ้าเจ็ดทางวัดก็ได้เก็บพระเนื้อชินสนิมแดงนี้ขึ้นมาให้บูชาเพื่อหารายได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดเจ้าเจ็ด แต่จำนวนก็น้อยนัก ดังนั้นพระกรุนี้จึงมีให้พบเห็นจำนวนไม่มาก และหายากมากๆ จะได้เห็นก็เฉพาะในพื้นที่ อ.เสนา ซึ่งใครมีก็ต่างหวงแหนเป็นยิ่งนัก 

สำหรับพระกรุวัดเจ้าเจ็ด เนื้อดิน

พระงบน้ำอ้อยกรุวัดเจ้าเจ็ด
พระงบน้ำอ้อยกรุวัดเจ้าเจ็ด

มีประวัติการจัดสร้างไว้อย่างชัดเจนว่า หลวงปู่ยิ้มวัดเจ้าเจ็ด ศิษย์เอกของพระอาจารย์จีน เจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ของวัดเจ้าเจ็ดเป็นผู้สร้าง ในปี 2475 ซึ่งท่านได้ทำการจัดสร้างและพิธีพุทธาภิเษก อย่างเข้มขลัง มากมายหลายพิมพ์ แต่ที่บรรจุลงในกรุจำนวนมากๆ นั้น ก็คือพระงบน้ำอ้อยเนื้อดิน ซึ่งเป็นพระที่ท่านสร้างไว้ตามพระธรรมขันธ์ คือ 84,000 องค์ แล้วบรรจุลงในพระเจดีย์ และตามสถานที่สำคัญต่างๆ ภายในวัดเช่น บนหลังคาพระอุโบสถ์ ตามที่ตัวผมสอบถาม ลุงๆ อาๆ ที่วัดเจ้าเจ็ดได้ความว่า ในสมัยนั้นท่านเป็นเด็กๆ กัน ทางวัดได้จัดสร้างพระงบน้ำอ้อยจำนวนมากมาย โดยมีพระเณรและชาวบ้านช่วยกันหาวัตถุดิบ แกะพิมพ์ และกดพิมพ์ ช่วยกันนำไปใส่บาตรเผาไฟ และบรรจุลงกรุตามดำหริ ของหลวงปู่ยิ้ม และยังมีพระงบน้ำอ้อยจำนวนมากใส่ลงไปในลำเรือ เพื่อไปใส่ไว้ในกรุ ที่วัดกระโดงทอง อำเภอเสนาด้วย

หลวงปู่ยิ้มวัดเจ้าเจ็ด
หลวงปู่ยิ้มวัดเจ้าเจ็ด

พระงบน้ำอ้อยถือเป็นพระเครื่องสำคัญของชุมชนคนเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา พุทธคุณสูงส่งในทุกด้าน ซึ่งทางวัดเจ้าเจ็ดได้ทยอยนำพระออกมาจากกรุ เพื่อหารายได้นำไปซ่อมแซม ศาสนสถานเรื่อยมา สำหรับพระงบน้ำอ้อย กรุที่ขึ้นจากพระเจดีย์และกรุหลังคาโบสถ์นั้นก็จะแตกต่างกันออกไปโดยพระงบน้ำอ้อยที่ออกมาจากกรุหลังคาโบสถ์ สีก็จะซีดขาว กว่าอย่างเห็นได้ชัด