หลวงพ่ออั้นวัดพระญาติ

พระเกจิอยุธยา หลวงพ่ออั้น ท่านบรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดพระญาติการาม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2456 โดยมี หลวงพ่อกลั่น ธมฺมโชติ เป็นพระอุปัชฌาย์

หลวงพ่ออั้นวัดพระญาติ

ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2435 โยมบิดาชื่อ นายคล้าย ศุภสุข โยมมารดาชื่อ นางสมบุญ ศุภสุข ส่วนชาติภูมิของท่านคือบ้านท่าหิน ต.ธนู อ.อุทัย อยุธยา มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาทั้งหมด 7 คนด้วยกัน (ไม่นับรวมตัวท่านซึ่งเป็นคนที่ 2) แต่ในที่นี้จะขอข้ามรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไป โดยใคร่เอ่ยถึงเพียงน้องสาวที่ถัดจากท่านลงมา ซึ่งมีชื่อว่า นางฮิ่ม จันทนินทร์ เพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะมีความสำคัญตรงที่ท่านผู้นี้เป็นโยมมารดาของ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) วัดชนะสงคราม

 

หลวงพ่ออั้น ท่านบรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดพระญาติการาม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2456 โดยมี หลวงพ่อกลั่น ธมฺมโชติ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อฉาย คงฺคสุวณฺโณ (เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูรัตนาภิรมย์) วัดตองปุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ส่วนคู่สวดอีกองค์ หรือพระอนุสาวนาจารย์นั้นไม่ปรากฏชัดว่าเป็นท่านผู้ใด คงได้แต่สันนิษฐานกันเพียงว่า น่าจะเป็น พระอาจารย์รอด วิฑุโร วัดอโยธยา (ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยอยู่วัดกะสังข์ และเป็นอาจารย์สอนมูลกัจจายน์ให้ท่าน หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะเป็น หลวงพ่อเลื่อง วัดประดู่ทรงธรรม) ได้รับฉายาว่า คนฺธาโร ท่านเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาเรื่อยมา จนเมื่อพระอุปัชฌาย์ถึงมรณภาพเมื่อ พ.ศ.2477 จึงได้ก้าวขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน (โดยใช้คำนำหน้านามว่า พระอธิการอั้น) ครั้นถึง พ.ศ.2478 ได้รับตำแหน่งเจ้าคณะตำบลหันตรา (โดยใช้คำนำหน้าว่า เจ้าอธิการอั้น) หลังจากนั้นอีกเพียง 2 ปี (พ.ศ.2480) ก็ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ สามารถให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรในเขตปกครองได้ นอกจากเรื่องตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวมา น่าสนใจว่าในส่วนของสมณศักดิ์นั้น หลวงพ่ออั้น ยังได้รับพระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้งให้เป็นที่ พระครูศีลกิตติคุณ เมื่อ พ.ศ.2493 ซึ่งเรื่องนี้สร้างความ ปีติยินดีให้แก่บรรดาศิษยานุศิษย์เป็นยิ่งนัก จึงได้พร้อมใจกันจัดงานฉลองให้ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2494 และในโอกาสเดียวกันนี้ หลวงพ่ออั้น ได้จัดสร้างเหรียญรูปท่านขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อแจกเป็นเครื่องตอบแทนแก่ผู้ที่ร่วมบริจาคเงินช่วยงาน ต่อมาในปี พ.ศ.2496 หลวงพ่ออั้น ได้สร้างเหรียญคล้ายกันขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งมีข้อแตกต่างกันตรงที่เหรียญรุ่น (2) นี้ ด้านหน้าปรากฏลายกนกอยู่ใกล้หัวเข่าขวาซ้าย (ของรูปท่าน) ส่วนด้านหลังนั้นระบุปี พ.ศ. ที่สร้างเป็น 2496

หลวงพ่ออั้นวัดพระญาติ 
เหรียญรุ่นสองหลวงพ่ออั้นวัดพระญาติ

ตกมาถึง พ.ศ.2509 หลวงพ่ออั้น ได้จัดงานฉลองอาคารเรียน (ร.ร.วัดพระญาติฯ) หลังใหม่ และในโอกาสเดียวกันนี้มีการจัดสร้างเหรียญรูปท่านขึ้นมาเป็นรุ่นที่ 3 ลักษณะคล้ายใบเสมา สำหรับ เหรียญเสมา นี้ มีข้อควรรู้อยู่ประการหนึ่งว่า ต่อมาในปี พ.ศ.2511 มีการสร้างขึ้นมาอีกรุ่นต่างหาก เนื่องจาก หลวงพ่ออั้น ได้รับเป็นประธานในการหาทุนก่อสร้าง ตึกสงฆ์อาพาธ ของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา แต่ทว่าเหรียญรุ่นนี้ต่างกับรุ่นก่อนตรงที่ ด้านหลังได้ระบุข้อความ บอกถึงวัตถุประสงค์ ในการสร้างเอาไว้ให้เป็นที่สังเกตอย่างชัดเจน (ส่วนเหรียญที่เคยกล่าวว่าด้านหน้ามีการตอกโค้ดตรงสังฆาฏินั้น เป็นเหรียญลักษณะเดียวกันที่ หลวงพ่อเฉลิม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2512) ส่วนเหรียญที่ หลวงพ่ออั้น สร้างเป็นรูปของท่านโดยเฉพาะ มีทั้งหมดรวม 4 รุ่น หรือ 4 พิมพ์ ดังได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้า นอกจากนี้แน่นอนว่าสร้างขึ้นโดย หลวงพ่อเฉลิม (หรือ พระครูสังฆรักษ์เฉลิม เขมทสฺสี) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันบ้าง สร้างโดยพระเกจิอาจารย์หรือคณะกรรมการวัดอื่นๆ บ้าง อย่างเช่น วัดสะแก วัดพรานนก วัดลุ่ม วัดโพธิ์สาวหาญ วัดหนองน้ำส้ม และวัดโคกมะยม เป็นต้น แต่กระนั้นก็น่าสังเกตอย่างมากว่า เหรียญที่สร้างขึ้นมา ทุกรุ่นทุกพิมพ์ล้วนเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางทั้งนั้น อย่างไรก็ดี หลังจากที่ หลวงพ่ออั้น สร้างเหรียญรุ่น ตึกสงฆ์? ได้ไม่นานนัก ท่านก็จากหมู่ญาติและลูกศิษย์ไปแบบไม่มีวันกลับ เพราะมรณภาพอย่างกะทันหันที่ จ.เชียงใหม่ ในคราวที่ได้รับนิมนต์ไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพระสิงห์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2512 ด้วยโรคลมปัจจุบัน หรือที่นิยมเรียกกันว่าหัวใจวาย หลังจากเก็บศพไว้ ณ วัดพระญาติฯ เป็นเวลาช้านานถึง 25 ปี บรรดาศิษยานุศิษย์และหลานๆ ของท่าน เพิ่งจัดงานพระราชทานเพลิงศพให้ใน พ.ศ.2536