พระเครื่อง วัตถุมงคล

วัตถุมงคลในพุทธศาสนา หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า เครื่องราง หรือ พระเครื่อง คือรูปสมมุติของพระพุทธเจ้าที่มีขนาดเล็ก สร้างไว้สำหรับบรรจุไว้ในพุทธเจดีย์ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า และเพื่อสืบทอดพระศาสนา พระเครื่องอาจจะรวมถึงรูปสมมติของพระโพธิสัตว์ ,พระอริยสงฆ์และเทพเจ้าที่มีขนาดเล็กด้วย 

ประวัติการสร้างพระเครื่อง

สันนิษฐานว่าสร้างภายหลังการสร้างพระพุทธรูป (ราว พ.ศ. 500) ซึ่งปรากฏเห็นเป็นหลักฐานชัดเจนในในสมัยทวารวดี (ราว พ.ศ. 400-พ.ศ. 1200)และ สมัยศรีวิชัย (พ.ศ. 1300) โดยสร้างพระเครื่องขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้ที่มาเคารพสังเวชนียสถาน เพื่อให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ส่วนความหมายของคำว่าพระเครื่องในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ท่านสั่งเครื่องจักรจากยุโรปมาเพื่อผลิตเหรียญกษาปณ์ และมีการดัดแปลงเครื่องจักรไปผลิตเหรียญที่ระลึกของเกจิอาจารย์ขึ้น ทำให้เรียกพระเหรียญที่ทำจากเครื่องจักรว่าพระเครื่อง ปัจจุบัยมีการเรียกพระองค์เล็กๆที่เป็นพระพิมพ์ เหมือนกันหมดว่าพระเครื่อง 

ความเชื่อและคตินิยม

1. พระเครื่อง ส่วนใหญ่ สร้างให้มีขนาดเล็กเพื่อที่จะสามารถสร้างได้จำนวนมาก สำหรับบรรจุในพระพุทธเจดีย์ เพื่อว่าในอนาคตเมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมลง วัตถุต่างๆพังทลายยังสามารถพบรูปสมมุติของพระพุทธเจ้าเพื่อแสดงให้เห็นความเจริญรุ่งเรื่องของพระพุทธศาสนาในอดีต

2. ใช้เป็นเครื่องรางยึดเหนี่ยวจิตใจ สำหรับคุ้มครองป้องกันในการออกศึกสงครามของคนโบราณ เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง 

3. ปัจจุบันนิยมนำมาห้อยคอเป็นเครื่องรางสำหรับคุ้มครองป้องกัน และเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต

 

ประเภทพระเครื่องแบ่งออกได้ดังนี้

1. พระกรุเนื้อชิน และพระกรุเนื้อดิน เป็นพระกรุที่ขุดพบตามวัดหรือโบราณสถานต่างๆ ซึ่งไม่อาจทราบประวัติและผู้สร้างได้ชัดเจนต้องศึกษาข้อมูลและการสัญนิษฐานตามหลักฐานต่างๆที่พบ เช่น พระรอดลำพูน พระนางพญาพิษณุโลก พระลีลากำแพง พระผงสุพรรณ พรุขุนแผนเคลือบวัดใหญ่ชัยมงคล พระ หลวงพ่อโตกรุบางกระทิง หรือ พระเนื้อชิน ที่พบในกรุวัดราชบูรณะอยุธยา เป็นต้น พระกรุเหล่านี้ล้วนได้รับความนิยมมาแต่อดีต มีผู้นำไปบูชาติดตัวและได้พบกับปาฏิหาริย์มากมาย จึงเป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมตลอดมาถึงทุกวันนี้

พระเครื่อง 
พระกรุเนื้อชิน ยอดขุนพลวัดราชบูรณะ

2.พระสมเด็จ ประวัติเริ่มต้นจาก สมเด็จพระพุฒาจารโต พรหมรังสี วัดระฆัง ซี่งท่านเป็นพระมหาเถราจาย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใสเป็นที่เคารพนับถือทั่วไปตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชนคนธรรมดา ท่านได้สร้างพระเนื้อผงวิเศษ มีรูปแบบลักษณะพิมพ์เป็น พระพุทธประทับบนอาสนะเป็นชั้นๆ และมีเส้นกรอบโค้งมนด้านบน ครอบไว้คล้ายกรอบแก้ว ตัดพิมพ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมคางหมู (ชิ้นฟัก) เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ร่วมทำบุญใส่บาตรไว้บูชาติดตัว พระที่ท่านทำแจกในครานั้นได้เกิดปาฏิหาริย์น่าอัศจรรย์มากมากแก่ผู้บูชา จึงทำให้ในประชาชนในอดีตทั่วไปต่างต้องการพระเนื้อผงของ "สมเด็จพระพุฒาจารย์โต" ไว้บูชากันโดยทั่วไป คำว่า "พระสมเด็จ" หมายถึง "สมเด็จ พระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี" ปัจจุบันนี้ "พระสมเด็จ วัดระฆัง" ถือเป็น ราชาแห่งพระเครื่อง ที่นักนิยมสะสมพระต่างอยากได้ไว้ครอบครอง เนื่องจากถูกบรรจุไว้ในชุดพระเครื่องเบญจภาคี 1ใน5 ของสุดยอดพระเครื่องเมืองไทยที่มีราคาสูงเป็นสิบล้านบาท และยังมีพระเครื่องที่ท่าน สมเด็จพระพุฒาจารย์โต สร้างไว้ที่วัดบางขุนพรหม และวัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทองอีกด้วย สำหรับพระพิมพ์สมเด็จนี้ ยังมีการสร้างล้อพิมพ์จากพระเกจิทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันอีกมากมาย


3.พระรูปหล่อ พระรูปเหมือน สำหรับพระประเภทรูปหล่อ หรือพระรูปเหมือนนั้น ก็เกิดจากกรรมวิธีการหล่อโลหะ ซึ่งจะต้องทำแม่พิมพ์ขึ้นมา โดยการปั้นและแกะหุ่นพิมพ์ขึ้นมา แล้วนำหุ่นพิมพ์ไปทำแม่พิมพ์ หลังจากนั้นก็เทน้ำโลหะเข้าไปในแม่พิมพ์และแกะแม่พิมพ์ออกก็จะได้พระรูปหล่อ ออกมา พระรูปหล่อที่ขึ้นชื่อมากที่สุดและเป็นสุดยอดปารถนาของนักสะสมพระรูปหล่อ ก็คงหนีไม่พ้น "พระหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน" จังหวัดพิจิตร ถือเป็นราชาแห่งพระหล่อโบราณ แต่ถ้าเป็นพระรูปเหมือนเกจิที่นิยมกันมากๆ ก็เช่น พระรูปเหมือนหลวงพ่อเดิมวัดหนองโพธิ์ พระรูปเหมือนหลวงพ่อพรหมวัดช่องแค นครสวรรค์ เป็นต้น ปัจจุบันกรรมวิธีสร้างพระรูปเหมือนลอยองค์ โดยวิธีการปั๊มขึ้นรูปแบบพระเหรียญด้วย ซึ่งสังเกตุได้จากรอยขอบตัดด้านข้างองค์พระ


4.พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ สำหรับพระกริ่งพระชัยวัฒน์ที่มีประวัติการสร้างแต่เดิมมาจากทิเบต หรือที่เรียกกันว่าพระกริ่งทิเบต พระกริ่งจีน และมีตำราการสร้างตกมาถึงยุคกรุงศรีอยุธยาในสมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา) สืบทอดมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระพุทธคุณพระกริ่งในอดีตนั้น สามารถนำมาทำน้ำมนต์ดื่มกินแทนยารักษาโรคภัยได้ทุกชนิด โดยในสมัยก่อนนั้นมีโรคห่า (อหิวตกโรค) ระบาดในประเทศไทยอย่างรุ่นแรงจนผู้คนล้มตายกันมาก แม้แต่พระสมเด็จพระวันรัต(แดง) พระอุปัชฌาย์ก็อาพาธด้วยโรคนี้ ท่านสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งท่านเป็นพระอุปัชฒาย์ของพระองค์ทรงนำพระกริ่งแช่ลงไปในน้ำ ทำน้ำพระพุทธมนต์ถวายแก่สมเด็จพระวันรัต(แดง) เมื่อท่านฉันน้ำพระพุทธมนต์ซึ่งทำจากพระกริ่งนั้น ก็ทรงหายอาพาธเป็นปกติ และโปรดน้ำพระพุทธมนต์จากพระกริ่งนี้ได้ให้ชาวบ้านที่ป่วยได้ดื่ม ซึ่งก็หายเป็นปกติทุกรายไป สมเด็จพระสังฆราช(แพ)วัดสุทัศนเทพวราราม ทอดพระเนตรเห็นคุณวิเศษอันน่าอัศจรรย์นี้จึงสนพระทัยและศึกษาตำราการสร้างพระกริ่งเรื่อยมา สำหรับพระกริ่งที่หายากและมีคุณวิเศษหลายประการในปัจจุบันนี้ต้องยกให้ พระกริ่งของสมเด็จพระสัฆราช(แพ)วัดสุทัศน เนื่องจากมีการสร้างจำนวนน้อยมาก 


5.พระเหรียญปั๊มโลหะ เป็นพระเครื่องขนานแท้ เนื่องจากกรรมวิธีผลิตต้องใช้เครื่องจักรมาเกี่ยวข้อง การสร้างพระเหรียญนั้น เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากมีการนำเครื่องจักรจากประเทศทางทวีปยุโรป มาใช้ในการปั๊มเหรียญกษาปณ์ เป็นเงินใช้หมุนเวียนภายในประเทศ จึงเกิดมีแนวคิดสร้างเหรียญที่ระลึกต่างๆ ด้วยเครื่องปั๊มเหรียญกษาปณ์ และพระเครื่องเหรียญแรกก็เกิดขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้จัดสร้าง "เหรียญพระพุทธชินสีห์" ในปี พ.ศ.2440 นั้นเอง แต่หากจะถามถึงเหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกของประเทศไทย ก็คือ เหรียญพระพุทธวิริยากร (จิตร ฉฺนโน) วัดสัตตนารถปริวัตร จังหวัดราชบุรี จัดสร้างในปี 2458 แต่พระเหรียญสุดยอดอมตะ แสนแพง ก็ต้องยกให้ พระเหรียญหลวงพ่อกลั่นวัดพระญาติ อยุธยา พิมพ์ขอเบ็ด สร้างปี 2469 ซึ่งสภาพสวยๆ มีข่าวว่าต้องพกเงินไปซื้อกันถึงยี่สิบล้านบาทไทยกันเลยทีเดียวเชียว

หลวงพ่อปานวัดบางนมโค 
เหรียญหลวงพ่อกลั่นวัดพระญาติ

6.พระเกจิ เนื้อผง เนื้อดิน เนื้อว่าน สำหรับพระประเภทนี้ ก็มีการสร้างให้บูชากันมากมายหลายแบบโดยพระเกจิคณาจารย์ทั่วประเทศไทย ยกตัวอย่างพระเนื้อดิน ก็ต้องนึกถึง พระเนื้อดินหลวงพ่อปานวัดบางนมโค อยุธยา ซึ่งสร้างเป็นพระพุทธทรงสัตว์พาหนะ 6 พิมพ์หลักด้วยกัน แต่หากจะกล่าวถึงพระเนื้อผง ก็พระผงของขวัญวัดปากน้ำ สร้างโดยหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ หากจะนึกถึงพระเนื้อว่าน ก็ต้องเป็นพระเนื้อว่านของหลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว เป็นต้น 


7.พระบูชา ในหมวดพระบูชา ก็คือพระเครื่องรูปหล่อ รูปเหมือนขนาดใหญ่ขึ้นมา จะเป็นพระพุทธ หรือพระสงฆ์ ก็ได้ สร้างไว้สำหรับจัดวางบนหิ้งพระบูขาที่บ้าน ก็จะเรียกขนาดองค์พระเป็นหน้าตัก เช่น หน้าตัก 5 นิ้ว,9 นิ้ว,12 นิ้ว ฯลฯ เป็นต้น 


8.พระปิดตา สำหรับพระปิดตา จะมีการสร้างด้วยเนื้อต่างๆ มากมาย โดยพระเกจิอาจารย์ ทั้งพระปิดตาเนื้อผง เนื้อว่าน และเนื้อโลหะ พระปิดตาที่นิยมก็ยกตัวอย่างเช่น พระปิดตาของหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก, พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง, พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ 


9.เครื่องราง ของขลัง ถือเป็นวัตถุมงคลที่นิยมใช้บูชาติดกายมาตั้งแต่โบราณ เนื่องจากสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ คนเราไม่มีการนำพระเครื่องมาแขวนติดหรือพกนำพาติดไว้กับร่างกาย เนื่องจากถือว่าพระเป็นของสูงไม่ควรนำมาไว้ที่บ้านหรือแขวนไว้กับร่างกาย ดังนั้นองค์พระขนาดเล็กต่างๆจึงอยู่ที่วัดเท่านั้น สิ่งที่คนโบราณนิยมบูชาติดร่างกายไว้เพื่อเป็นสิริมงคลและป้องกันสิ่งชั่วร้ายที่มองไม่เห็น ก็มักจะเป็น ผ้ายันต์ หรือตะกรุด มงคลแขน เป็นหลัก 


10.จตุคาม รามเทพ ถือเป็นเครื่องราง หรือวัตถุมงคลอีกชนิดหนึ่ง ซื่งได้รับความนิยมบูชามาจากทางภาคใต้ของไทย ซึ่งองค์ จตุคาม รามเทพ ถือเป็นเทพ และมีการจัดสร้างแจกที่ พระธาตุนครศรีธรรมราช มีคนนำไปบูชาและพบกับความเจริญรุ่งเรืองอย่างน่าอัศจรรย์ จึงทำให้เป็นที่นับถือของประชาชนชาวใต้จนถึงทุกวันนี้ สำหรับจตุคามที่นิยมและมีชื่อเสียงของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็คือจตุคาม รามเทพ ที่จัดสร้างจากวัดพุทไธศวรรย์ ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีคุณค่าความนิยมสูงมาจนถึงปัจจุบัน