เลสหลวงพ่อจักษ์วัดชุ้ง รุ่นแรก

หากจะกล่าวถึงวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันนี้ คงต้องยกให้เป็นสร้อยข้อมือ หรือที่เรามักนิยมเรียกกันจนติดปากว่า "เลสข้อมือ" ถือเป็นวัตถุมงคลที่ได้รับควาานิยมอย่างมาก จากเลสหลวงพ่อรวย มาถึง เลสหลวงพ่อจักษ์วัดชุ้ง

สร้อยเลสข้อมือนั้นเคยได้รับความนิยมอย่างมากจากวัยรุ่นยุคหนึ่งประมาณปี พ.ศ.2530-2540 ซึ่งในยุคนั้นใครๆ ต่างก็มีสร้อยเลสข้อมือใส่ เป็นสแตนเลส มีแถบด้านหน้าเป็นหัวแบนๆ มีอักษรข้อความ หรือภาพต่างๆ ที่ด้านหน้าแผ่นหัวแบนๆ ซึ่งต่อด้วยสายสร้อย ร้อยรัดข้อมือ ซึ่งราคาไม่แพงนักสามารถหาซื้อ เลือกแบบถูกใจได้ตามตลาดนัด และงานวัดทั่วๆไป จนมีการทำเป็นธุรกิจประเภทเครื่องประดับเป็นล่ำเป็นสันรวมถึงการใช้ทองเหลืองมาทำสลักชื่อ นามสกุล ซึ่งก็มีรับทำลักษณะนี้ด้วยเหมือนกัน เครื่องประดับลักษณะนี้เป็นที่ชื่นชอบของวัยรุ่นยุคนั้นอย่างมากเนื่องจากราคาไม่แพงหาซื้อง่าย ผู้ผลิตจึงพัฒนาเพิ่มมูลค่าด้วยการใช้โลหะเงินแทนโลหะสแตนเลส ทำให้เกิดความนิยมยิ่งขึ้นไปอีกในลูกค้าอีกระดับ ไม่ว่าจะใช้โลหะสแตนเลส, โลหะอลูมิเนียม, โลหะทองเหลือง หรือว่าโลหะเงิน, ทองคำ ทุกคนก็เรียกกันติดปากว่า "เลส" ซึ่งย่อมาจาก "สแตนเลส" นั่นเอง

เลสรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์ 
เลสข้อมือหลวงพ่อจักษ์รุ่นแรก

เครื่องประดับประเภทนี้จึงได้ถูกนำมาสร้างเป็นวัตถุมงคลรุ่นแรกโดย "หลวงพ่อรวย วัดตะโก" อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2537 "เลสหลวงพ่อรวย" ถือเป็นเครื่องรางของขลัง ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกเลยก็ว่าได้ที่ถือกำเนิดวัตถุมงคลประเภทนี้ขึ้นมา จัดได้ว่าหลวงพ่อรวยนั้นเป็นต้นตำรับของสร้อยเลสข้อมือ "เลสหลวงพ่อรวย" และท่านก็ได้สร้างรุ่นต่อๆมาจนถึงปัจจุบันซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้ที่นิยมบูชาวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง จนมีการจัดสร้างเป็นวัตถุมงคลหลายสำนัก อาทิเช่น สร้อยข้อมือ "เลสรุ่นแรกหลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์" หนองตาโล่ จังหวัดสระบุรี ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2549 ก็ได้รับความนิยมไม่น้อยจนมีราคาสูงทะลุหลักหมื่น ขึ้นไปในสภาพสวยเดิม ขนาดน้ำหนักที่นิยมก็จะมี 2บาท สำหรับสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษข้อมือเล็ก ขนาดน้ำหนัก 4บาท สำหรับสุภาพบุรุษข้อมือใหญ่ แต่ที่น่าจับตามองสำหรับสร้อย "เลสข้อมือ" อีกสำนักซึ่งมีพื้นที่อาณาบริเวณใกล้เคียงกันนั้น คือ "สร้อยเลสข้อมือ หลวงพ่อจักษ์วัดชุ้ง" อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นรุ่นแรก สร้างปี 2559 ชื่อรุ่นเป็นมงคลคือ "รุ่นเศรษฐี 59"

 

จำนวนการสร้าง มีดังนี้

1.หัวเลสเนื้อทองคำขนาดใหญ่ หนัก 39.5-40.0 กรัม สร้างตามจำนวนจอง 8 หัว

2.สร้อยข้อมือเลสเนื้อเงินหน้ากากทองคำ ขนาด 4 บาท จำนวนสร้าง 199 เส้น

3.สร้อยข้อมือเลสเนื้อเงินลงยา ขนาด 4 บาท จำนวนสร้าง 499 เส้น

4.สร้อยข้อมือเลสเนื้อเงิน ขนาด 4 บาท จำนวนสร้าง 799 เส้น

5.หัวเลสเนื้อทองคำขนาดเล็ก หนัก 17.9-18.0 กรัม สร้างตามจำนวนจอง 11 หัว

6.สร้อยข้อมือเลสเนื้อเงินหน้ากากทองคำ ขนาด 2 บาท จำนวนสร้าง 159 เส้น

7.สร้อยข้อมือเลสเนื้อเงินลงยา ขนาด 2 บาท จำนวนสร้าง 399 เส้น

8.สร้อยข้อมือเลสเนื้อเงิน ขนาด 2 บาท จำนวนสร้าง 599 เส้น

หากเราจะนับรวมจำนวนรุ่นนี้ทุกเนื้อทั้งหมดรวมกันจะมีจำนวน 2,673 ชิ้น เท่านั้นเอง ถือเป็นจำนวนสร้างที่ค่อนข้างน้อยมากๆ และด้วยที่เป็นศักดิ์ศรีวัตถุมงคลรุ่นแรก สำหรับผมถือว่าน่าเก็บสะสมอย่างยิ่ง เพราะอนาคตย่อมเป็นที่ต้องการและหายาก

เรามาดูรายละเอียดของสร้อย "เลสข้อมือหลวงพ่อจักษ์วัดชุ้ง" กันดีกว่าเนื่องจากผมได้รับเนื้อเงินลงยามาจึงขอนำมาแกะกล่องรีวิวรายละเอียดกันดูว่าน่าสนใจอย่างไรกันบ้าง

เลสรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์ 
กล่องเลสข้อมือรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์

-รูปร่างกล่องสวยงามครับเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้ากล่องมีอักษร ระบุรุ่น "เศรษฐี ๕๙" บรรทัดต่อๆ มาระบุว่า "เลสรุ่นแรก" และ "หลวงพ่อจักษ์ จตฺตมโล" "วัดชุ้ง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี" "๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๙" ภายในกล่องมีฟองน้ำหุ้มด้านหน้ากันกระแทก สีฟ้า

เลสรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์ 
กล่องเลสข้อมือรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์

-เมื่อเปิดกล่องออกมาก็จะพบสร้อย "เลสข้อมือ" อยู่ภายในซึ่งห่อหุ้มด้วยซองพลาสติกแก้วไว้ มีฟองน้ำกันกระแทกด้านล่างกล่องสีฟ้าเช่นกัน

เลสรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์ 
ซิลเดิมเลสหลวงพ่อจักษ์รุ่นแรก

-เมื่อหยิบสร้อยข้อมือออกมา จะเห็นว่าซองพลาสติกถูกซีลปิดไว้เรียบร้อย มิดชิดป้องกันอากาศ

เลสรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์ 
เปิดซองเลสหลวงพ่อจักษ์รุ่นแรก

-ผมจึงใช้กรรไกรตัดตามรอยซีลออก เดี๋ยวเราจะได้เห็นรายละเอียดกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง

เลสรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์ 
เปิดซองเลสหลวงพ่อจักษ์รุ่นแรก

-เมื่อนำสร้อยเลสข้อมือออกมา ก็พบว่าได้มีการคล้องตะขอเกี่ยวกันไว้เรียบร้อยแล้วครับ ตะขอใหญ่มากกก

เลสรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์ 
เลสข้อมือหลวงพ่อจักษ์รุ่นแรกด้านหลัง

-เมื่อพลิกดูด้านหลังหัวเลส ผมก็ต้องร้อง "ว้าวววว" เพราะเลขโค้ดที่รันหมายเลขลำดับจำนวนชัดๆ ตอกอยู่ด้านหลังครับ ผมได้หมายเลขตองสอง "๒๒๒" โชคดีมากครับ สำหรับสำนักนี้ น่าประทับใจตรงที่ไม่มีการกั๊กกักเก็บเลขสวยไว้นะครับ ใครมาหยิบอันไหนส่งให้คือไปเปิดกล่องเสี่ยงดวงวัดใจเลขสวยกันเองครับ ไม่เหมือนกับวัตถุมงคล พระเครื่อง บางสำนักที่มักเก็บกั๊กเลขสวยๆไว้ บางทีคนจองยกกล่อง รันหมายเลขนำเบอร์เรียงกันไปในกล่อง กลับหาตัวเลขลำดับสวยๆในกล่องไม่เจอเอาหมายเลขอื่นมาเปลี่ยนไปซะอย่างนั้นก็มี แต่สำหรับสำนัก วัดชุ้งนี้ไม่มีเรื่องแบบนี้ จะเห็นว่าหลายๆคนได้เลขสวยๆไปครอบครองตามบุญวาสนาใครวาสนามันกันเลยทีเดียว สำหรับด้านหลังหัวเลส มีโค้ด"ธรรมจักร" ตอกด้านหน้า พ.ศ.๒๕๕๙ ต่อมาจากเลข พ.ศ. เป็นโค้ด "มะ ดอกจัน" ตอกเอาไว้ด้วย

เลสรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์ 
เลสข้อมือหลวงพ่อจักษ์รุ่นแรก

-ตะแคงดูขอบด้านข้างก็เรียบๆ ไม่มีการตอกโค้ดอะไรไว้

เลสรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์ 
เลสข้อมือหลวงพ่อจักษ์รุ่นแรก

-ด้านหน้าของหัวเลส เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อจักษ์ ครึ่งองค์ จีวรลงยาสีเหลือง พื้นลงยาสีแดง ในใบเสมา ซึ่งขอบเสมาเป็นลวดลายกนก ลงยาเขียว พื้นที่หัวเลสส่วนใหญ่นั้นลงยาสีน้ำเงินมีแพะสองตัวอยู่ด้านซ้ายและขวาของรูปเหมือนหลวงพ่อจักษ์ ซึ่งแพะนั้นเป็นปีเกิดหลวงพ่อ คือปี มะแม จึงถือเอา แพะเป็นสัญลักษณ์ สัตว์นำโชค และมีถุงเงินอยู่ด้านซ้ายและถุงทองอยู่ด้านขวา มีอักขระยันต์ นะ-ชา-ลี-ติ คาถาหัวใจพระสิวลี มั่งมีอุดมสมบูรณ์ด้วยลาภยศ อยู่ด้านซ้าย ด้านขวาเป็นอักขระยันต์ อิ-ธะ-คะ-มะ คาถาหัวใจ อิธะเจ มหาเสน่ห์ เมตตาเต็มสูตร ขอบของหัวเลสเป็นลวดลายกนก ลงยาสีแดง สวยงาม

เลสรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์ 
เลสข้อมือหลวงพ่อจักษ์รุ่นแรก

-มองจากด้านข้าง หัวเลสโค้งเกือบจะครึ่งวงกลม รับข้อมือ สายสร้อยข้อมือเป็นแบบแบนๆ เดิมๆ ลายคลาสิค ต้นฉบับสร้อยข้อมือในอดีต

เลสรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์ 
เลสข้อมือหลวงพ่อจักษ์รุ่นแรก

-ความยาวของสายสร้อย เลสข้อมือ ทั้งหมดประมาณ 21 เซนติเมตร วัดจากปลายห่วงอีกด้านไปถึงอีกด้าน ไม่รวมตะขอเกี่ยวนะครับ ถือว่ายาวมาก

เลสรุ่นแรกหลวงพ่อจักษ์ 
เลสข้อมือหลวงพ่อจักษ์รุ่นแรก

-เมื่อผมลองนำมาสวมข้อมือผมดู ปรากฏว่าสายสร้อยมีขนาดยาวเกินไปผมไม่สามารถนำไปใส่แบบเดิมๆได้ หากจะนำไปใส่คงต้องตัดข้อออกประมาณ 4-6 ข้อน่าจะได้ ถือว่าข้อมือผมเล็กเกินไปมาก ซึ่งข้อมือผมมันเล็กเอง ถ้าต้องตัดออกก็เสียดาย โค้ดหมายเลขสวยด้วย อยากเก็บไว้เดิมๆ มากกว่าครับ แต่สำหรับคนที่ข้อมือใหญ่ๆ ก็คงจะใส่ได้สบายๆ

หมวด: บทความ พระเครื่องวัตถุมงคล
ฮิต: 173