LVC 1915 สุดยอดยีนส์กระดุมเยอะ
สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สำหรับครั้งนี้ผมได้กางเกงยีนส์ LVC 1915 ย่อมาจาก "Levi's Vintage Clothing 1915" และนั่นหมายความว่า เป็นกางเกงยีนส์สายการผลิตระดับพรีเมี่ยม (Premium) ของบริษัท Levi's นั่นเอง เรามาชมรายละเอียดความเป็นพรีเมี่ยมของ LVC 1915
ยังมีท่านผู้อ่านอีกหลายท่านที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับกางเกงยีนส์ Levi's "LVC" ว่ามันคือกางเกงยีนส์แบบไหน และมีความพิเศษกว่ากางเกงยีนส์ Levi's ทั่วไปอย่างไร? ผมจะอธิบายคร่าวๆ ให้ทราบว่ากางเกงยีนส์ LVC "Levi's Vintage Clothing" เป็นกางเกงยีนส์ที่บริษัท Levi's ได้ทำการผลิตในปัจจุบัน แบบย้อนยุค โดยใช้กรรมวิธีการผลิตให้ใกล้เคียงกับกางเกงยีนส์ยุคเก่าๆ มากที่สุด ตั้งแต่การทอผ้าจนถึงการตัดเย็บ วัตถุดิบอื่นๆ เช่น หมุดย้ำ และกระดุม ซึ่งจะมีการนำต้นแบบกางเกงยีนส์ Levi's มาเป็นแบบในการผลิต โดยส่วนใหญ่จะเน้นในรุ่น Levi's 501 เน้นในยุคสำคัญๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด (Minor Chang) ของแต่ละยุค เพื่อมาเป็นต้นแบบในการผลิตขึ้นใหม่ ดังนั้น LVC จะมีเลขต่อท้ายด้วยตัวเลขปี ค.ศ. ของแต่ละปี เช่น Levi's 501 LVC 1915 หมายความว่า เป็นกางเกงยีนส์ที่ผลิตย้อนยุคให้เหมือนกับกางเกงยีนส์ Levi's 501 ปี 1915
ยังมีคนอีกหลายคนที่ไม่ค่อยเข้าใจ และคิดไปว่า กางเกงยีนส์ LVC คือกางเกงยีนส์ Levi's ปลอม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะกางเกงยีนส์ Levi's LVC ทุกรุ่น ผลิตโดยบริษัท Levi's อเมริกา และยังมีการผลิตอีกหลายประเทศที่ได้รับลิขสิทธิ์ไปผลิตจำหน่าย
หากท่านผู้อ่านเข้าใจ LVC กันดีแล้วเรามาชมความสวยงามของกางเกงยีนส์ LVC 1915 กันดีกว่าครับว่ามีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้าง ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้ว่า กางเกงยีนส์ Levi's 501 ที่ผลิตในปี 1915 นั้น มีความต่างจากกางเกงยีนส์ Levi's 501 ปัจจุบันอย่างไร
หากท่านผู้อ่านมีโอกาสได้ซื้อกางเกงยีนส์ Levi's 501 LVC ใหม่ๆ ท่านก็จะเห็นป้ายกระดาษลักษณะนี้ ซึ่งมีอักษรระบุไว้อย่างชัดเจน "LEVI'S VINTAGE CLOTHING" ตามด้วยบาร์โค้ด และราคาขายกับขนาดของกางเกงยีนส์
หากพลิกป้ายกระดาษดูอีกด้าน จะเห็นรายละเอียดสำคัญๆ คือ รุ่น 501 ปี 1915 "Shrink-to-Fit" หมายความว่า กางเกงยีนส์จะหดตัวหลังจากซัก จะหดมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำด้วยนะครับ หากน้ำร้อนมากก็จะหดตัวมาก สำหรับป้ายนี้ส่วนท้ายยังคงระบุให้เห็นชัดเจนว่า "Made in the USA" ผลิตที่ประเทศอเมริกา
จุดสำคัญของกางเกงยีนส์ LVC-1915 นี้ หากทุกท่านพิจารณาจากด้านบน จะเห็นได้ว่า กางเกงยีนส์ตัวนี้ "ไม่มีหูร้อยเข็มขัด" ไม่ใช่ว่าโรงงานเขาลืมเย็บหูเข็มขัดติดมาให้หรอกนะครับ แต่ว่าหูเข็มขัดนั้นไม่ได้มีการใช้งานมาตั้งแต่ยุคต้นแล้วหล่ะ ดั้งนั้นกางเกงยีนส์ตัวนี้จึงไม่มีหูเข็มขัด เห็นไหมครับว่ามันพิเศษจริงๆ เพราะเจ้ากางเกงยีนส์ตัวนี้ได้ถ่ายทอดความเป็นวินเทจในยุค 1915 ออกมาอย่างชัดเจน
แล้วถ้าไม่มีหูร้อยเข็มขัด ผู้ชายในยุค 1915 เขาจะส่วมใส่กางเกงยีนส์กันอย่างไร ลองสังเกตุดูดีๆ นะครับว่า บริเวณของของกางเกงยีนส์ จะมีกระดุมด้านซ้าย และด้านขวา ด้านละ 2 เม็ด ด้านหลังตรงกลางอีก 2 เม็ด กระดุมทั้ง 6 เม็ดนี้ มีความสำคัญใช้สำหรับการร้อย "Suspender" หรือที่เราเรียกกันว่า สายเอี้ยมนั่นแหละครับ และกางเกงยีนส์ยุคนี้ผมถือว่าเป็นกางเกงยีนส์ที่มีกระดุม และรีเวท (Rivet) หรือหมุดย้ำ มากมายที่สุดด้วยเช่นกัน ผมนับกระดุมดูแล้วมีจำนวนมากถึง 11 เม็ด และ Rivet หมุดย้ำ มีจำนวน 13 อัน ฮ่าๆ คุ้มไปเลย
ป้ายเครื่องหมายการค้า Levi's 501XX เป็นป้ายหนัง ให้อารมณ์วินเทจ สำหรับรายละเอียดในป้าย ก็จะแตกต่างจากป้ายปะเก็นในยุคปัจจุบันมากพอสมควรครับ
เอวด้านหลังจะมีสายปรับกระชับ (Cinch) ด้านหลัง คนไทยที่ชื่นชอบยีนส์ เมื่อเห็นส่วนนี้จะเรียก "เบลหลัง" ในส่วนนี้จะนิยมใช้กันมาก่อนการกำเนิด เข็มขัด เสียอีกครับ และแน่นอนว่ามันบ่งบอกถึงความเป็นวินเทจได้อย่างเต็มเปี่ยม กระดุมด้านหลัง 2 เม็ดเอาไว้ร้อยสายเอี้ยม (Suspender) ซึ่งใช้สำหรับคนงานในยุค 1915
สายปรับกระชับเอว (Cinch) ในยุค 1915 จะมีเข็มแทง เวลาเรารัดสายในตำแหน่งที่ต้องการแล้ว ก็จะใช้ปลายเข็มเหล็กแหลมๆ แทงเข้าไปในเนื้อผ้าของสายรัด เพื่อเป็นการล็อกตำแหน่งไม่ให้เลื่อนหลุดออกไป แต่สำหรับกางเกงยีนส์ LVC-1915 เข็มแทงจะมีสะพานเชื่อมต่อกับปลายเข็มทั้ง 2 ข้าง หากใครต้องการจะใช้งาน ก็ใช้คีมตัดลวดสายไฟ หรืออะไรก็ได้ที่คิดว่าตัดได้ ตัดสะพานตรงปลายเข็มออกก็จะเป็นปลายเข็มแหลมๆ 2 อันและสามารถใช้งานได้เหมือนยุคอดีต แต่หากไม่ต้องการใช้ก็ไม่ต้องตัดออก เพราะมันแหลม เวลาใช้งานหรือซักทำความสะอาดก็อาจเกิดอันตรายได้เหมือนกันนะครับ ขอเตือนกันไว้ก่อน
กระเป๋าหลัง เราสังเกตเห็น หมุดย้ำทองแดง (Rivet) อยู่ตรงมุมปากกระเป๋าหลัง 2 อัน ซึ่งยีนส์ Levi's 501 ปัจจุบันจะไม่มีการใช้หมดย้ำที่กระเป๋าหลังแบบนี้แล้ว ใช้เส้นด้ายเย็มมุมกระเป๋าแทนการใช้หมุดย้ำ หมุดย้ำเหล่านี้เป็นสิทธิบัตรของ Levi's ซึ่งจดทะเบียนและใช้ในกางเกงยีนส์ Levi's ตั้งแต่ 1873 สำหรับหมุดย้ำทองแดงตรงมุมกระเป๋าหลังนี้ ได้ถูกยกเลิกไปในปี 1937 เนื่องจากหมุดย้ำตรงมุมกระเป๋าหลังเวลานั่งจะไปขูดขีดเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นรอย จึงใช้การเย็บ “Bar Tacks (บาร์แท็ก) หรือ แซก” แทน แต่ก็ยังคงไว้ซึ่ง หมุดย้ำซ่อน ด้านในกางเกง เรียกว่า “Hidden Rivet”
ลายปีกนกที่กระเป๋าหลัง คนอเมริกาเรียกโค้งคันศร จะไม่ค่อยสวยงามเหมือนสมัยนี้ เพราะสมัยใหม่จะใช้จักรเย็บผ้าเข็มคู่ ทำให้ระยะห่างช่องไฟเท่ากัน แต่ในอดีตปี 1915 เป็นจักรเย็บผ้าโบราณ ต้องใช้ทักษะคนในการเดินแนวเส้นได้ให้เป็นรูปปีกนก หรือ โค้งคันศร มันก็เลยดูเบี้ยวๆ ไม่ค่อยสวยงาม แต่คนรักกางเกงยีนส์วินเทจ บอกว่ามันคลาสิคมาก Levi's ก็เลยจัดให้เหมือนปี 1915 มากที่สุด
ในกระเป๋าหลังด้านซ้ายมือ จะมีซองกระดาษสีขาวๆ เย็บติดมาด้วย อันนี้ไม่ใช่ซองกฐินผ้าป่า นะครับ อย่าเข้าใจผิด ฮ่าฮ่า อันที่จริงแล้วซองสีขาวที่เย็บติดมานี้ เป็นซองจดหมายจาก Levi's ที่ฝากถึงลูกค้าทุกคน ที่ซื้อกางเกงยีนส์ LVC 1915 ด้านในจดหมายผมไม่สามารถแกะออกมาให้ชมได้นะครับ เพราะตัวนี้ผมจะนำไปขายให้ลูกค้าต่อ สำหรับเนื้อหาด้านใน จะอธิบายที่มาที่ไปของกางเกงยีนส์ LEVI'S 501XX ในปี 1915 แต่ถ้ามีโอกาสได้เปิดซอง จะนำมาให้ผู้อ่านได้ชมอีกครั้งในภายหลังนะครับ
สำหรับกระเป๋าหลังด้านขวามือ ปกติแล้วตรงมุมกระเป๋า เราจะสังเกตเห็นป้าย สีแดงๆ เล็กๆ มีอักษร LEVI'S สีขาว ติดอยู่อย่างสวยงาม หลายคนเรียก "Red Tab" แต่ตัวนี้กลับไม่มี แล้วป้าย สีแดง มันหายไปไหน? เขาลืมติดมาหรือเปล่า? หรือกางเกงยีนส์ Levi's ตัวนี้เป็นของปลอม? หลายคนหยิบกางเกงยีนส์แบบนี้ขึ้นมา และเห็นงานลักษณะนี้แล้ว วางลงทันทีบอก "ของปลอมหรือเปล่าไอ้น้อง อย่าเอามาหลอกขายพี่" นั่นแสดงว่า คุณยังเล่นกางเกงยีนส์ Levi's 501 ไม่ลึกจริง เพราะป้าย Red Tab สีแดงนั้นจะถูกนำมาติดไว้ตรงมุมกระเป๋าในปี 1953 ดังนั้นกางเกงยีนส์ LVC 501 ตัวนี้เป็น Model 1915 "ป้าย Red Tab ยังไม่เกิดครับพี่" ถ้าท่านผู้อ่านรู้แบบนี้แล้วก็จะได้ไม่ต้องตกใจ และคิดว่ามันเป็นของปลอมกันนะครับ
กระเป๋าหลังด้านขวามือ จะมีแผนกระดาษ "Levi's Guarantee Ticket" ตั๋วรับประกันของ Levi's หากเป็นของอเมริกา หรือ USA สังเกตเนื้อกระดาษ จะเป็นหยาบๆ ตารางเล็กๆ ไม่ได้เรียบแบบกระดาษแข็งทั่วๆ ไปนะครับ ใครมีลองสังเกตดูได้นะครับ
เรามาดูหมุดย้ำกันบ้างครับ ภาพด้านบนเป็นหมุดย้ำ หรือ (Rivet) ที่อยู่ด้านนอกกางเกงยีนส์ มีอักษร "LS.&CO-S.F." เป็นตัวย่อของบริษัท Levi's
สำหรับหมุดตุ่ย "Rivet" ทองแดงด้านหลัง หรือด้านในกางเกงยีนส์ ก็มีอักษรของบริษัท Levi's เช๋นกัน แต่จะเรียบแบนกว่าด้านหน้า ผมนับในรุ่นนี้จะมีหมุดย้ำถึง 13 ชิ้นด้วยกันถือว่าเป็นรุ่นที่มีหมุดย้ำ Rivet เยอะมากๆ เลยทีเดียว
หมุดย้ำที่สำคัญ และพิเศษสำหรับรุ่นนี้ คือตรงเป้ากางเกงยีนส์ จะตอกหมุดย้ำไว้ด้วย ซึ่งในภายหลังได้มีการถอดหมุดย้ำตรงนี้ออกไป เนื่องจากพวกทำงานปศุสัตว์ หรือพวก คาวบอย เวลาสวมกางเกงยีนส์ บางคนไม่ได้สวมกางเกงชั้นใน ในคืนที่อากาศหนาวเหน็บ ก็จะก่อกองไฟนั่งพิงไฟกันกลางทุ่งหญ้า เวลานั่งก็ใกล้กองไป ความร้อนก็จะค่อยๆ สะสมตรงหมุดทองแดงที่เป้ากางเกง ทำให้หมุดย้ำร้อนและสัมผัสกับเจ้า กระปู๋ช้างน้อย ของคาวบอย เกิดอาการ ไข่ไหม้ กันนะสิครับ ปัญหานี้ Levi's ได้แก้ไขโดยการถอดหมุดย้ำตรงเป้าออกไปในปี 1944 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องลดโลหะที่ไม่มีความจำเป็นในกางเกงยีนส์ เพื่อนำโลหะไปใช้ในภาระกิจสงคราม
รายละเอียดต่อมา เป็นเม็ดกระดุมด้านบนสุด หรือ เม็ดกระดุมรอบๆ เอวสำหรับคล้องสาย Suspender จะมีอักษร "LEVI STRAUSS & CO S.F.CAL" เป็นทรงโดนัท พื้นผิวเป็นตาราง และมีการเคลือบน้ำยาบางอย่างไว้ที่พื้นผิวด้วยครับ คล้ายๆ แล็กเกอร์ เหมือนป้องกันการเกิดสนิมอะไรสักอย่าง
สำหรับกระดุมติดบริเวณเป้ากางเกงนั้น จะเม็ดเล็กกว่ากระดุมด้านบน และมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน
กระดุมติดเป้า เม็ดเล็กจะไม่มีตัวอักษร แต่จะเป็นทรงโดนัท และมีลวดลายอย่างในภาพด้านบนครับ
ที่บริเวณถุงกระเป๋าด้านในมีการสกรีน "LEVI'S VINTAGE CLOTHING" สีดำไว้ด้วยครับ
สำหรับตะเข็มริมกางเกงนั้น ไม่ได้เป็นริมที่มีเส้นสีแดงคาด เหมือนอย่างกางเกงยีนส์ริมแดงทั่วไป ซึ่งในสมัยก่อนที่จะเป็นริมแดง การทอผ้าเดนิมหน้าแคบ จะเป็นริมผ้าสีขาวเรียบๆ แบบในภาพครับ ซึ่งยุค 1915 นั้น ผ้าเดนิมจะเป็นริมสีขาว ล้วนๆ แบบนี้ครับ
อีกส่วนหนึ่งที่ใช้ผ้าริมมาทำ คือบริเวณกระเป๋าเล็กๆ ข้างขอบเอว หรือ Watch Pocket เมื่อเราแง้มปากกระเป๋าดู ก็จะเห็นริมสีขาวที่ปากกระเป๋าใส่นาฬิกา Watch Pocket ด้านในครับ
กางเกงยีนส์ Levi's Vintage Clothing LVC-1915 เราสังเกตได้ว่ารายละเอียดต่างๆนั้น จะพยายามผลิตให้เหมือนกับกางเกงในยุคนั้น ทุกๆอย่าง แต่จะมีอยู่อย่างเดียวที่ไม่ทำเลียนแบบให้เหมือนยุคนั้น คือ ป้ายแคร์อินสตรัคชั่น "Care Instruction" ก็ที่เราเรียกกันว่าป้ายแสตมป์ เล็กๆ สีขาวๆ ในกางเกงยีนส์ลีวายส์นั่นแหละครับ หากเป็นกางเกงยีนส์ LVC ป้ายจะเป็นของใหม่เหมือนกางเกงยีนส์ที่ผลิตขายปกติในปัจจุบันเลย แต่จะมีอักษร "LEVI'S VINTAGE CLOTHING" และบรรทัดต่อมา MADE IN U.S.A. OF IMPORTED นั่นคือกางเกงยีนส์ตัวนี้ผลิตในประเทศอเมริกา ถือเป็นจุดสำคัญในการดูป้ายแคร์แผ่นนี้ เพราะถ้าผลิตที่ประเทศอื่นๆ ก็จะพิมพ์ชื่อประเทศนั้นไว้
ป้ายที่สำคัญอีกแผ่นหนึ่งคือ ชิ้นเล็กๆ ชิ้นสุดท้ายด้านใน บรรทัดบนสุด PC9-15501-008 หมายถึง กางเกงยีนส์ 501 ใช้รหัสผ้า 0008 หดหลังซักทำความสะอาดเหมือนกัน และหากผู้อ่านสังเกตตัวอักษรและตัวเลขอีกกลุ่มหนึ่งด้านขวามือ CW-5115 หมายถึง ผลิตในสัปดาห์ที่ 51 ปี 2015 นั่นเองครับ ตัวเลข 4420 จะเป็นรหัสสถานที่ผลิตในประเทศอเมริกา ซึ่งจะต้องตรงกันกับกระดุมเม็ดบน ลองดูด้านหลังของกระดุมดูกันดีกว่าครับ
ภาพนี้จะเห็นชัดเจนครับว่า กระดุมได้ตอกหมายเลขรหัสสถานที่ผลิตในประเทศอเมริกาไว้ชัดเจน 4420 ตรงกันกับป้ายแคร์อินสตรัคชั่น
กางเกงยีนส์ Levi's Vintage Clothing LVC-1915 จะใช้ผ้า ของ Kurabo น้ำหนัก 9 ออนซ์ ก่อนซัก และ น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเป็น 12 ออนซ์หลังซักทำความสะอาด ถือเป็นผ้าที่ไม่หนามากและสวมใส่สบายๆ
สำหรับคนที่คิดจะซื้อมาสวมใส่ ก็ดูภาพประกอบด้านบนได้นะครับว่าสวมใส่แล้ว ทรงจะเป็นแบบไหนกัน แน่นอนครับว่ามันเหมาะกับคนที่ชอบการแต่งกายวินเทจแบบเข้าเส้นอย่างแน่นอนครับ เพราะกางเกงจะเป็นทรงกระบอกขาตรง เอวจะสูง และไม่มีหูร้อยสายเข็มขัด การปรับกระชับต้องใช้เบลหลัง และจะให้เหมาะกับแนววินเทจจริงๆ ควรหาซื้อสาย Suspender มาสวมใส่ด้วย รับรองได้ว่าสวมใส่เดินไปทางไหนทั้งสาวโสด สาวแก่ แม่หม้าย ลูกเด็กเล็กแดง ต้องเหลียวหลังมองแล้ว มองอีกอย่างแน่นอนครับ
ขอจบการรีวิวกางเกงยีนส์ "Levi's Vintage Clothing" LVC-1915 ไว้แต่เพียงเท่านี้ หากมีกางเกงยีนส์ อื่นๆ แปลกๆ แหวกแนวมาอีก ผมจะนำมาให้ชมกันอีกนะครับ ขอบคุณท่านผู้อ่านที่อดทนอ่านมาจนจบ หากข้อมูลผิดพลาดประการใดก็ขอกราบอภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
JeansZa ร้านยีนส์แห่งประเทศไทย