เรื่องของ แซกยีนส์ลีวาย

ชิ้นส่วนเล็กๆ ของกางเกงยีนส์ลีวาย ที่หลายคนใช้เป็นเกณฑ์ในการระบุยุคของกางเกงยีนส์เก่า (Vintage) แบรนด์ลีวาย ว่ากางเกงยีนส์ลีวายตัวนั้นอยู่ในยุคไหน มีความเก่ามากน้อยสักกี่สิบปี อันที่จริงก็มีส่วนประกอบอื่นๆ อีกหลายอย่าง แต่ครั้งนี้เราจะเน้นย้ำไปที่ “แซกยีนส์ หรือ Bar Tacks”

Bar Tacks (บาร์แท็ก) หรือ "แซกยีนส์" คืออะไร?

คำตอบคือ Bar Tacks (บาร์แท็ก) หรือ "แซกยีนส์" นั้น เป็นกรรมวิธีการเย็บตรงมุมบนกระเป๋าหลังของกางเกงยีนส์ลีวาย เพื่อให้เกิดความแข็งแรง หากคุณมองไปที่กระเป๋าหลัง 2 ใบ ของกางเกงยีนส์ Levi's คุณก็จะเห็นรอยเย็บมุมกระเป๋าด้านบน 4 จุดด้วยกัน นั่นแหละครับ ชาวต่างชาติ เขาเรียก “Bar Tacks” เราคนไทยเรียก “แช็ก” คำว่า “แซก” ก็คือคำย่อมาจาก “เย็บซิกแซก” ซึ่งเรียกเฉพาะคนไทย นั่นเองครับ

การเย็บลักษณะ Bar Tacks นั้น เป็นการเย็บด้วยด้ายออกมาลักษณะเป็นแท่ง  ไม่ว่าจะเย็บไว้ที่ไหนตรงส่วนไหนของผ้า ฝรั่งเขาเรียกว่าบาร์แท็ก แต่คนไทยเราเรียกว่า "แซก" โดยเฉพาะกางเกงยีนส์ลีวาย หากเป็นด้ายสีน้ำเงินดำ เรียกว่า "แซกดำ" แต่พอมาเป็นเส้นด้ายสีส้ม กลับเรียกตามฝรั่งว่า "บาร์แท็ก"

 

แล้วทำไมหลายคนที่รักยีนส์ลีวายต้องให้ความสำคัญกับ “Bar Tacks" หรือ "แซก” นั่นก็เพราะว่าเมื่อกางเกงยีนส์ลีวาย ผลิตเริ่มแรกนั่นตรงมุมกระเป๋าด้านบนจะไม่ได้เย็บแบบ “Bar Tacks"(บาร์แท็ก) หรือ "แซก” แบบปัจจุบัน แต่จะใช้เป็นหมุดย้ำตอกยึดติดตรงมุมกระเป๋า เพื่อให้เกิดความแข็งแรง ไม่หลุดหรือขาดง่าย เพราะผ้ายีนส์ตรงมุมกระเป๋ามันมีความหนาของผ้ามากเพราะต้องพับทบกันหลายชั้น และความสามารถของจักรเย็บผ้าสมัยนั้นก็เย็บได้ยากอีกด้วย

รีเวทกระเป๋าหลัง

ต่อมาเจ้า "หมุดย้ำ" ที่อยู่ตรงกระเป๋าหลังก็สร้างปัญหาให้ใครหลายคน เนื่องจากเวลานั่งลงไปบนโซฟา หรือเฟอนิเจอร์ภายในบ้าน หรือเบาะรถยนต์ รถม้า อะไรก็แล้วแต่ที่ คนใส่กางเกงยีนส์ลีวายหย่อนก้นลงไปสัมผัส มันก็จะเกิดริ้วรอย ขีดขวน ขึ้นมาทันที สร้างความเสียหายใหญ่หลวงนัก จึงได้ร้องเรียนไปยังบริษัท ลีวาย ถึงปัญหาเหล่านี้ 

หมุดย้ำลีวายส์ (Rivets)

ว่าแล้วลีวาย ก็จำใจต้องถอดหมุดย้ำตรงมุมกระเป๋าออกซะเลย ในปี 1937 ใช้การเย็บ “Bar Tacks (บาร์แท็ก) หรือ แซก” แทน แต่ก็ยังคงไว้ซึ่ง หมุดย้ำซ่อนไว้ด้านใน “Hidden Rivet” กันเหนียว ช่วงนี้เองเกิดการเย็บ แซก ที่มุมกระเป๋าขึ้นแล้วครับ เป็นด้ายสีดำ หรือน้ำเงินเข้ม เราเรียกกันว่า “แซกดำ” และในปีนี้เองมีการติดป้ายธง "Red Tab" เข้าไปไว้ที่มุมกระเป๋าอีกด้วย (บิ๊กอี เกิดในปีนี้นั่นเอง)

หมุดย้ำซ่อนลีวายส์

ต่อมาในปี 1966 ทางบริษัทลีวายจึงมีการถอด หมุดย้ำซ่อน Hidden Rivet ออกไป และต่อจากนี้ไปก็จะเหลือเพียง Bar Tacks หรือ แซก ที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวมุมกระเป๋าหลัง กางเกงยีนส์ลีวายไว้ได้อย่างเหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบันนี้

คราวนี้เรามาดูภาพ "แซก" หรือ "Bar Tacks" ยุคเริ่มแรกกันดีกว่าครับ

กระเป๋าหลังลีวาย “แซกดำจม” สังเกตจากภาพด้านล่าง เราจะเห็นการเย็บซิกแซกมุมกระเป๋ากางเกงด้วยด้ายสีดำ แต่ก็จะเห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงเรียกว่า "แซกดำจม" (Hidden Black Bar Tack) ยุคของกางเกงยีนส์ลีวาย "แซกดำจม" คือปี 1966-1977 เป็นยุคของผ้าด้าน (แต่อาจมีเลยปี 1977 ไปบ้างเล็กน้อย)

ลีวายส์แซ็กดำจม

กระเป๋าหลังลีวาย แซกดำลอย ยุคนี้เป็นช่วงที่ลีวายใช้ "ผ้าด้านกึ่งทราย" เข้ามาผลิตกางเกงและมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเย็บหลายอย่าง รวมถึงการเย็บแซกมุมกระเป๋า จะเห็นเส้นด้ายสีดำลอยออกมาอย่างชัดเจน ทำให้เรียกกันว่า "แซกดำลอย" ยุคนี้ประมาณปี 1977-1982

ลีวายส์แซ็กดำลอย

กระเป๋าหลัง ลีวายแซกส้ม หรือ บาร์แทก ช่วงนี้เป็นช่วงสมัยใหม่ ใช้จักรเย็บ ซิกแซก สำหรับผ้าหนาๆ ได้อย่างสวยงาม และใช้เส้นด้ายสีส้มเหมือนกับรอยเย็บอื่นๆ ซึ่งเจ้า "บาร์แทก" นี้ก็ใช้มาจนถึงปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลง เริ่มตั้งแต่ปี 1983-ปัจจุบัน

ลีวายส์แซ็กส้ม

เป็นอย่างไรกันบ้างหละครับ พอที่จะทราบรายละเอียดและความเป็นมาของ "แซกยีนสลีวาย" กันบ้างแล้วนะครับ แน่นอนครับว่าคนที่รู้เรื่องรายละเอียดเหล่านี้ เขาย่อมหาซื้อกางเกงยีนส์ลีวายปีเก่า ผ้าสวย ตรงกับยุคที่เขาต้องการได้ในราคาไม่แพงแบบไม่ยากเย็นอะไร 

1937-1965 หมุดย้ำซ่อน (Hidden Rivets)

1966-1977  แซกดำจม (Black Bar Hidden)

1978-1982   แซกดำลอย (Black Bar Tacks)

1983-ปัจจุบัน แซกส้ม หรือ บาร์แทก (Bar Tacks)

JeansZa สนับสนุนให้ทุกคนใส่ยีนส์