ใส่ ยีนส์ Levi's แบบไหนที่เหมาะกับคุณ?

กางเกงยีนส์ Levi’s หลายคนสงสัยว่าที่เขาเอามาลงขาย ออนไลน์ ในกลุ่มยีนส์มือสองต่างๆ บางตัวทำไมมันถึงได้ขายกันราคาแพงมากๆ ทั้งที่ในห้างหรือใน Shop Levi’s ตัวใหม่ๆ ก็ไม่ได้แพงอะไรหนักหนา บางครั้งมีโปรโมชั่น ซื้อ 1 แถม 1 อีกต่างหาก แล้วที่เขาเอามาขายมือสองกันหล่ะ ทำไมมันถึงแพง ทั้งที่ เก่าก็เก่า บางตัวสภาพเก๊าวววว เก่า ขาดวิ่นไปทั้งตัว ราคายังเป็นหลายพันไปยันหลักหมื่น แต่ก็มีคน ซื้อไปใส่อีกด้วยครับ

เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกางเกงยีนส์ Levi’s ที่เขาซื้อขายกันดีกว่า มันมีความพิเศษแตกต่างจากกางเกงยีนส์แบรนด์อื่นๆ อย่างไร? 

กางเกงยีนส์ Levi’s เราแบ่งให้ท่านผู้อ่านเข้าใจง่ายๆ เป็น 4 กลุ่ม ตามการซื้อขายกัน ดังนี้

Levi's 501 vintage
Levi's Vintage

กลุ่มที่ 1 Levi’s Vintage (ลีวายส์ วินเทจ)
กางเกงยีนส์ Levi’s vintage สายวินเทจเหล่านี้ ถือเป็นของเก่า ของโบราณล้ำค่าอมตะ การพิจารณาให้ราคานั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ ระหว่าง ผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่มีกฏเกณฑ์ราคากลางตายตัว กางเกงยีนส์ Levi’s (โดยเฉพาะ Levi’s 501) ยิ่งปีเก่าแต่มีสภาพดี สมบูรณ์แบบ ราคาก็จะยิ่งแพงมาก เพราะกางเกงยีนส์เก่ายุคแรกๆ ที่มีสภาพสมบูรณ์นั้นหายาก กางเกงยีนส์ Levi’s วินเทจเหล่านี้ เป็นที่ต้องการของนักสะสมยีนส์ตัวยง หรือบรรดาพวกเซียนยีนส์ทั้งหลาย และมีการตามซื้อเก็บกันมาตั้งนานแล้ว เพราะยิ่งเก็บไว้นานราคายิ่งแพง สำหรับกางเกงยีนส์ Levi’s ที่ผลิตในปีแรกๆ ที่ได้เริ่มจดทะเบียนสิทธิบัตรขึ้นมา คือใน ปี ค.ศ. 1873 จนถึงปี ค.ศ.1983 หากปีเก่ามาก ก็ยิ่งมีมูลค่าสูง ยกตัวอย่าง เช่น กางเกงยีนส์ “Levi’s 501 Nevada” ที่ถูกค้นพบซากอยู่กลางทะเลทราย “เนวาดา” และมีการวิจัยว่า เป็นรูปแบบของกางเกงยีนส์ Levi’s 501 ยุคแรกในปี 1880 และเป็นต้นแบบของยีนส์ Levi’s 501xx ซึ่งทำให้มันมีราคาค่าตัวอยู่ที่ 42,000 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็มีราคาประมาณ ล้านกว่าบาทแค่นั้นเอง และทำไมยีนส์ Levi’s vintage วินเทจถึงไปหยุดอยู่ที่ปี 1983 หล่ะครับ?

อันที่จริงแล้วบางกลุ่มให้นิยามว่า Levi's vintage จริงๆ แล้วควรจะหยุดอยู่ที่ ป้าย "LEVI'S" Big E คือปี 1971 เพราะปี 1972 นั้นมีการเปลี่ยนป้ายเรดแทปเป็น "Levi's" คือ "e" เล็กไปเสียแล้ว แต่ความคิดผมนั้นยังคิดว่ายีนส์ Levi's "e" ในช่วงยุคแรกนั้นยังคงใช้กรรมวิธีการผลิตที่ยังไม่ค่อยแตกต่างจาก "E" ตัวใหญ่ไปมากเท่าไหร่ สำหรับกางเกงยีนส์ Levi’s "e" เล็ก แรกเริ่มนั้นจะเป็นการใช้ผ้า “เดนิม” ที่ทอด้วยเครื่องจักรเก่าหน้าแคบ มาใช้ในการตัดเย็บกางเกง มันจึงมีริมผ้าเป็นสีขาว และมีเส้นสีแดง Red line (selvedge) ที่พวกเรามักเรียกกันติดปากว่ากางเกงยีนส์ “ริมแดง” มันได้ค่อยๆ ทยอยเลิกผลิตไปประมาณปี 1983 นั่นเอง แต่ก็ยังพอมีผลิตต่อเนื่องไปอีกเล็กน้อยตามจำนวนผ้าที่เหลือค้างสต๊อก และหลังจากนั้น ก็จะเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ ใช้เครื่องจักรใหม่ที่ทันสมัยขึ้นทอผ้าหน้ากว้างขึ้นได้ ทำให้สามารถผลิตกางเกงขายได้จำนวนมากขึ้น จึงทำให้ยุคหลังจากปี 1984 ไม่ค่อยมียีนส์ผ้าริมแดงจนถึงปัจจุบันซึ่งตะเข็บจะใช้เป็นแบบ “ริมโพ้ง” ที่เราเห็นกันในยีนส์ Levi’s 501 ทุกวันนี้ นอกเสียจากเป็นกางเกงยีนส์เกรดพรีเมี่ยม หรืองานผลิตย้อนยุค LVC ที่สำคัญโรงงาน Levi's เก่าก็ค่อยๆ ปิดตัวไปด้วย

LVC
Levi's ย้อนยุค LVC

 

กลุ่มที่ 2 Levi’s Vintage Clothing (LVC ลีวายส์วินเทจโคทติ้ง หรือ Levi's ย้อนยุค)
งานรีโปรดักส์ชั่น (ผลิตขึ้นใหม่ เลียนแบบกลุ่มที่ 1) เหตุก็เพราะกางเกงยีนส์กลุ่มที่ 1 (Levi’s Vintage) มีการซื้อขายกันในตลาดมือสอง ราคาแพงมาก มีเงินหมุนเวียนกันมหาศาล กับกางเกงยีนส์ Vintage และที่สำคัญนั้นกางเกงยีนส์เก่าวินเทจก็หาได้ยากอีกด้วย 

จึงทำบริษัท Levi’s เห็นช่องทางการตลาด เพื่อเติมเต็ม ความอยากให้กับลูกค้า ผลิตของใหม่เลียนแบบของเก่า ที่มีต้นแบบอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Levi’s บริษัทจึงทำการ “ผลิตย้อนยุค” ขายเองเสียเลย ซึ่งเป็นเทคนิคทางการตลาดที่กำราบ คู่แข่งที่เกิดขึ้นมากมายได้อย่างชะงักนัก โดยใช้การทอผ้าแบบดั้งเดิม เครื่องจักรเดิม และกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมทั้งหมด เพื่อให้ได้กางเกงยีนส์ Levi’s ใกล้เคียงกับยีนส์ Vintage กลุ่มที่ 1 มากที่สุด

แน่นอนครับ การแตกไลน์การผลิตแบบเก่าดั้งเดิมนั้น มันทำให้ได้จำนวนกางเกงยีนส์น้อยกว่าไลน์การผลิตแบบปกติที่ผลิตในปัจจุบัน จึงทำให้ LVC มีราคาสูงกว่างานผลิตปกติทั่วไป ถึงแม้มันจะผลิตใหม่ในปีเดียวกันกับกางเกงยีนส์ที่ผลิตสายการผลิตปกติก็ตาม ซึ่ง LVC นี้ จะมีการผลิตขึ้นในประเทศ อเมริกา และ ญี่ปุ่น และบางประเทศเท่านั้น ในบางรุ่นของ LVC มีราคาสูงสำหรับตลาดยีนส์มือสอง เช่น “Levi’s 501 Nevada” ผลิต LVC ในปี 2001 ปัจจุบันมีความต้องการ และราคาสูงมากในตลาดมือสอง

Levi's made in USA
Levi's made in USA

กลุ่มที่ 3 Levi’s Made in USA
มันเป็นกางเกงยีนส์ลีวายส์ Levi's Made in USA สายการผลิตปกติ ที่ผลิตต่อเนื่องจากปี 1983 ในอเมริกา เริ่มตั้งแต่ปี 1984 ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2003 มันหมายความว่าเป็นกางเกงยีนส์ Levi’s ใหม่ๆ ที่ผลิตขึ้นที่โรงงาน ในประเทศอเมริกานั่นเอง (Made in USA) เช่นที่โรงงาน San Francisco แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้โรงงานผลิตยีนส์ Levi's ในอเมริกาไม่สามารถเอาตัวรอดฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจได้ หลายๆ โรงงานในอเมริกาจึงต้องปิดตัวลงไป โดยใช้การผลิตนอกประเทศแทน หรือไม่ก็ใช้จ้างโรงงานรับจ้างผลิตยีนส์ทั่วไปในอเมริกาแทน ทำให้กางเกงยีนส์ Made in USA หายาก และมีราคาแพงขึ้นอีกด้วย Levi’s made in USA จึงเป็นที่ต้องการสำหรับนักเล่นกางเกงยีนส์กลุ่ม (Made in USA) นี้อย่างมาก กางเกงยีนส์กลุ่มนี้ ถึงแม้มันจะกลายเป็นกางเกงยีนส์มือสอง (Made in USA) มันก็ยังทำราคาที่น่าพอใจได้ สำหรับคนที่คิดจะขายมันเสมอ

Levi's
Levi's

กลุ่มที่ 4 Levi’s ลิขสิทธิ์
หมายถึงกางเกงยีนส์ ลีวายส์ สายการผลิตปกติในปัจจุบัน ที่ได้รับการอนุญาติจากเจ้าของลิขสิทธิ์ Levi’s ให้ผลิตขึ้นได้ นอกประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการผลิตในประเทศต่างๆ เช่น เม็กซิโก, ปากีสถาน,อียิป, ไทย, จีน, เวียดนาม, ฟิลลิปปินส์, ญี่ปุ่น,เฮติ ฯลฯ กางเกงยีนส์ Levi's เหล่านี้ จะผลิตขึ้นภายในประเทศต่างๆ ตามที่ได้รับอนุญาติ โดยใช้เครื่องจักรและวัตถุดิบของประเทศนั้นๆ และนำไปติดตราสินค้า Levi’s ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานการผลิตของ Levi’s สำหรับคุณภาพนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของคน เครื่องจักร และผ้าเดนิม ของแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น (Made in Japan) ก็จะมีคุณภาพของผ้าเดนิมที่ดี และเป็นที่ยอมรับในเรื่องของมาตรฐานการผลิตมากกว่าประเทศอื่นๆ (ราคาจึงแพงมากกว่าประเทศอื่นๆด้วย) กางเกงยีนส์ Levi’s กลุ่มลิขสิทธิ์นี้ ไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึงมากนัก ในเรื่องของความพิเศษต่างๆ และราคาก็เป็นไปตามที่บริษัทผู้ผลิต และร้านจำหน่ายกำหนดไว้ตายตัวอยู่แล้ว หากเข้าไปซื้อตามห้าง Shop Levi’s ราคาก็จะอยู่ที่ 1-3 พันบาท แล้วแต่โปรโมชั่น และเมื่อเราเบื่อยีนส์เหล่านี้เมื่อไหร่ หากคิดจะจำหน่ายเป็นยีนส์มือสอง ราคาจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200-800 บาท ตามสภาพการใช้งาน

สำหรับคุณหล่ะ! หากคิดที่จะซื้อ Levi’s คุณจะเลือกซื้อในกลุ่มไหน? ถ้าคุณไม่ได้พิศมัยกางเกงยีนส์ Levi's มากมายนัก คิดจะซื้อยีนส์เพื่อใส่ไปทำงาน หรือใส่ทำกิจวัตรประจำวัน Levi’s ลิขสิทธิ์ กลุ่มที่ 4 ใน Shop Levi’s ที่ผลิตในสายการผลิตปกติ ผลิตจากโรงงานในประเทศไทย ขายตามห้างสรรพสินค้าก็ใส่ได้อย่างคุ้มค่า คุ้มราคาเลยทีเดียว แต่หากคุณเป็นคนรักยีนส์ Levi's แบบเข้าเส้นชอบที่จะสะสมยีนส์ Levi's และชอบ Story ของยีนส์ Levi’s กางเกงยีนส์ กลุ่มที่ 1 ถือเป็นกางเกงยีนส์แห่งความภาคภูมิใจหากคุณได้มันมาครอบครอง สำหรับกางเกงยีนส์กลุ่มที่ 2  LVC ถือเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมที่สุด ถึงแม้คุณจะจ่ายเงินมากขึ้นกว่าปกติก็ตาม แต่รับรองได้ว่า คุณจะได้รับความเป็นยีนส์แบบดั้งเดิมมากที่สุด หรือหากจะเอาไว้ทำกำไรในอนาคตก็ย่อมได้เช่นกัน
สำหรับกางเกงยีนส์กลุ่มที่ 3 ผลิตจากประเทศอเมริกา ก็เป็นตัวเลือกที่ดีไม่แพ้กัน เพราะเป็นยีนส์ที่หาซื้อได้ง่ายกว่าและมีสภาพใหม่ๆ ให้เลือกซื้อเยอะ ถึงราคาจะแพงกว่ายีนส์ลิขสิทธ์ในประเทศ แต่ถ้าใครได้สวมใส่มัน รับรองได้ว่าความรู้สึกของอเมริกันสไตล์ตะวันตกมันจะเข้าไปเต็มงามหว่างขาเลยทีเดียว ยีนส์กลุ่มนี้หากจะขายเป็นยีนส์มือสองนั้นก็ทำราคาให้เจ้าของได้มากพอที่จะนำเงินไปซื้อยีนส์ใหม่ๆ มาใส่ได้สบายๆ นะครับ