กางเกงยีนส์ Levi’s 501 ต้นฉบับของยีนส์

ผมว่าเกือบทุกคนต้องรู้จักชื่อแบรนด์ กางเกงยีนส์ ดังอย่าง Levi's บางคนอาจจะรู้มากเข้าไปอีกว่ามันคือ กางเกงยีนส์ ยี่ห้อแรกของโลก และรู้ลึกไปอีกว่าเริ่มผลิตมาใส่กันเมื่อร้อยกว่าปีแล้วด้วย แต่ที่ผมยังค้างคาใจคงไม่ใช่ชื่อยี่ห้อ ยีนส์ ที่ใครๆ ก็รู้ว่า นายลีวาย สเตราท์ เป็นผู้ผลิต และจด  สิทธิบัตร ร่วมกับ จาคอป เดวิส ขึ้นเป็นแบรนด์แรก ของกางเกงยีนส์ แต่หมายเลขตามหลังนี่สิ “501” มันมีความหมายและความเป็นมาอย่างไร  

เพราะที่ทราบมา กางเกงยีนส์ LEVI'S นั้นมีรหัสรุ่น ไม่ใช่แค่ 501 อย่างเดียว ยังมีอีกตั้งเยอะแยะ และเขาแบ่งรุ่นกันอย่างไร แล้วมันแตกต่างกันอย่างไรกันครับ ด้วยความอยากรู้ผมก็หาคำตอบมาสรุปย่อๆ ไว้ให้อ่านเล่นกันเลยแล้วกันนะครับ

Levi's 501

  ในปี 1853 บริษัท Levi Strauss & Co. ได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อผลิตกางเกงที่มีความทนทานสำหรับคนงานเหมืองโดยวิธีการตอกหมุดย้ำ เพื่อยึดชิ้นส่วนของกางเกงเข้าด้วยกัน สร้างความแข็งแรงให้กับกางเกง โดยผู้คิดค้นวิธีการนี้คือ Jacob Davis เป็นช่างออกแบบตัดเย็บ กางเกงยีนส์ ที่เคยสั่งซื้อผ้ายีนส์ กับ Levi’s และในเวลาต่อมา ทั้งสองคนได้ร่วมมือกันนำวิธีการตัดเย็บ อันเป็นเอกลักษณ์นี้ไปขึ้นทะเบียนสิทธิบัตร ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 1873 และถือเอาวันนี้เป็นวันกำเนิดของ (บลูยีนส์) 

 

ปี 1873 กางเกงยีนส์ Levi's นั้นยังไม่ได้เรียกว่า 501 เรียกว่า Overalls Denim เป็น กางเกงยีนส์ ทรงกระบอกขาตรง (Straight) มีเพียง 3 กระเป๋า ด้านหลังมีแค่กระเป๋าใบที่อยู่ด้านขาวเพียงใบเดียว

ปี 1986 เป็นกางเกงยีนส์ Overalls Denim XX (รหัส XX หมายถึงความพิเศษและน้ำหนักของเนื้อผ้าที่มีคุณภาพดี)

ปี 1890 เป็นกางเกงยีนส์ Overalls Denim 501XX เป็นรหัสเลขผืนผ้าที่ส่งมอบจากโรงงาน Amoskeag Manufacturing Company และมีกระเป๋า Watch Pocket เพิ่มขึ้นมาสำหรับใส่นาฬิกา รวมเป็นกระเป๋า 4 ใบ 

ปี 1902 เป็นกางเกงยีนส์ Overalls Denim 501XX ที่มีกระเป๋าครบทั้ง 5 ใบ และมีการผลิตรุ่น Levi's 502XX เหมาะกับคนเอวใหญ่ สำหรับรุ่น Levi's 503 A และ Levi's 503 B ซึ่งเหมาะกับเด็กวัยรุ่น หรือเด็กโต รวมถึงผู้หญิงด้วย ซึ่ง LEVI'S ในตอนนี้ไม่ได้มีไว้ใช้กับคนงานในเหมืองใส่ทำงานอีกต่อไป

ยีนส์ลีวาย

แต่เมื่อผลิตกางเกงยีนส์ออกมาขายแล้วทำไม ต้องใช้ รหัส “Levi’s 501” นั่นก็เพราะการถือกำเนิดกางเกงยีนส์ Lot.แรกของโลกนี้ เกิดขึ้นโดยใช้รหัส Lot.สินค้า Lot.แรก คือ “501” ที่มาจากโรงงาน Amoskeag Manufacturing Company  ถือเป็นผ้าที่ดีที่สุด และมีผู้สัญนิษฐานอีกนัยหนึ่งคือ เดือน 5 (May) จะเป็นเดือนของแรงงาน "May Day" วันที่ 1 May เป็นวันแรงงาน หมายถึงกางเกงรุ่นนี้จะเป็นกางเกงของผู้ใช้แรงงานนั่นเอง (จริงป่ะเนี๊ยะ) แต่ที่แน่ๆ คือ Lot.แรกผลิตเดือน 5 (May) แน่นอน จึงเป็น Lot.501

                แต่สำหรับคนที่นิยมกางเกงยีนส์นั้นจะบอกได้ทันทีว่า รหัส 501 นี้เป็นรหัสทรงกางเกงยีนส์ Levi’s ที่มีประวัติมาตั้งแต่ปี 1873 และเป็นต้นแบบของทรงกางเกงยีนส์ทั่วโลกมาจนถึงยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้ เรามาดูกันครับว่า รูปแบบของกางเกงยีนส์ “Levi’s 501” นั้นมันมีเอกลักษณ์เป็นอย่างไรกันบ้าง

ป้าย Levi's 501

1.ป้ายหนัง หรือ ป้ายปะเก็น ด้านหลังทางขาวมือ ที่จะบ่งบอกถึงความเป็นแบรนด์ เครื่องหมายการค้า และรุ่นของกางเกงยีนส์ บอกขนาดความกว้างของเอว และความยาวของกางเกงยีนส์ ซึ่งจุดนี้ก็ทำให้กางเกงยีนส์หลายๆ ยี่ห้อต้องทำเลียนแบบกันมาถึงปัจจุบันนี้ สำหรับกางเกงแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่กางเกงยีนส์ เช่น กางเกงนอน กางเกงแพร กางเกงวอร์ม กางเกงสแลค กางชั้นใน ผมก็สังเกตได้ว่า ไม่เห็นติดป้ายลักษณะแบบนี้เลยนะครับ นอกจากกางเกงยีนส์เท่านั้น

กระเป๋าเล็ก Levi's 501

2.กระเป๋าใบเล็กๆ (Watch Pocket) ซ่อนไว้ที่กระเป๋าด้านขวามือ ซึ่งมีคุณประโยชน์มากมายมหาศาลในปัจจุบันนี้ เพราะเอาไว้ใส่อะไรก็ได้ขนาดเล็กๆ ซึ่งมันก็ล้วงหยิบได้ง่ายกว่าเอามือล้วงไปหาในกระเป๋ากางเกงยีนส์ ลึกๆ ซึ่งในอดีตนั้นออกแบบมาเพื่อใส่นาฬิกาล็อกเก็ต เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีนาฬิกาข้อมือ

หมุดย้ำ Levi's 501

3.หมุดย้ำ (Rivet) ตรงรอยต่อของกระเป๋าและส่วนต่างๆ ของกางเกงยีนส์ มันคือสิ่งที่ Jacob Davis คิดค้นขึ้นมา เพื่อให้กางเกงยีนส์ของเขามีรอยต่อที่แข็งแรงทนทานกว่าการเย็บปกติทั่วไป ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของยีนส์ที่ทำให้ยีนส์ในปัจจุบันต้องมีติดหมุดย้ำแบบนี้กันเกือบทุกยี่ห้อ ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่เหมือนกางเกงยีนส์นะสิครับ

กระดุม Levi's 501

4.กระดุม (Button Fly) ต้องเป็นกระดุมโลหะ สำหรับ Levi’s 501 นั้น กระดุมจะเป็นโลหะทองแดงในยุคแรกๆ และโลหะสีเงินในยุคต่อมา สำหรับด้านหมุดตุ่ย เม็ดบนสุด หลังกระดุมจะมีการตอกโค้ดสถานที่ผลิตไว้ด้วย กระดุมติดเป้าด้านหน้า “Levi’s 501” ต้องเป็นกระดุมสำหรับยุคแรกๆ และสำหรับรุ่นที่ติดเป็นซิปก็มี คือ "Levi's 501ZXX" (Zip Fly) และเปลี่ยนเป็น Levi's 502 ในยุคต่อๆ มา

Red Tap Levi's 501

5. ป้ายแดง (Red Tab) ด้านหลัง ข้างกระเป๋ากางเกงขาวมือ จะต้องมีป้ายสีแดงเล็กๆ ที่มีอักษร (LEVI’S หรือ Levi’s) ติดอยู่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ ยีนส์ Levi's 501 เลยก็ว่าได้ ในยีนส์ Levi's ยุคแรกๆ ก็ไม่มีติดไว้ มาติดกันตอนหลัง ปี 1936 ซึ่งถ้ามันไม่มีป้ายเล็กๆ สีแดงๆ แบบนี้ ตรงจุดนี้ตำแหน่งนี้ เหมือนมันขาดอะไรไปสักอย่างที่ทำให้กางเกงยีนส์ ดูแล้วไม่สมประกอบเอาเสียเลย ถ้าได้อย่างในภาพ ถือว่าเป็นของหายากเลยทีเดียวครับ

ป้าย Care Levi's 501

6.ป้ายแคร์ (Care label) ด้านในกางเกงยีนส์  ซึ่งจะระบุรายละเอียดต่างไว้ ถึงเรืองการซักทำความสะอาด และรหัสต่างๆ เช่น ชนิดของผ้า เดือนปีที่ผลิต รหัสสถานที่ผลิต(ต้องตรงกับรหัสที่ตอกหลังกระดุมเม็ดบนสุด) และบอกขนาดของกางเกงยีนส์ตัวนั้นๆ (ต้องตรงกันกับป้ายปะเก็นหรือป้ายหนัง)

กระเป๋าด้านหน้าของ Levi's 501

7.กระเป๋าล้วงด้านหน้า 2 ใบ แบบในภาพนี้ ก็จะเห็นเหมาะกับกางเกงยีนส์ เท่านั้นหละครับ สำหรับกางเกงผ้าชนิดอื่นๆ หากตัดเย็บทำกระเป๋าแบบนี้มันก็ยังดูไม่เข้าเหมือนกับกางเกงยีนส์อยู่ดี หรือจะเอากางเกงยีนส์ไปทำกระเป๋าล้วงแบบอื่นเช่นกระเป๋าแนบข้างตะเข็บเหมือนกางเกงสแล็ค มันก็ดูไม่เหมือนกางเกงยีนส์อีกอยู่ดี ว่าไหมครับ

กระเป๋าหลัง Levi's 501

8.กระเป๋าหลังทรง 5 เหลี่ยม 2 ใบ มีลายปีกนก (arcuate Stitch) และมีจุดตัดตรงกลางเป็นรูปเพชร สิ่งนี้ก็ถือเป็นเอกลักษณ์ของยีนส์ Levi's 501 เพราะ กางกางยีนส์ ปัจจุบันเกือบทุกยี่ห้อ ก็ต้องมีกระเป๋าหลัง 2 ใบ และเป็นทรง 5 เหลี่ยม ส่วนลวดลายที่กระเป๋าก็อาจออกแบบให้แตกต่างกันออกไป ก็แล้วแต่ตามสบายใจกันเลยครับ แต่หากออกแบบเป็นลักษณะอื่นๆ ใหญ่ไป หรือเล็กไป มันก็ไม่สวย อมตะนิรันด์กาล แบบของ Levi's 501 เลยนะครับ

                สรุปว่าองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ ของ Levi's 501 ล้วนมาเป็นต้นแบบของกางเกงยีนส์ในยุคปัจจุบันมากมายหลายยี่ห้อ อาจจะนำไปออกแบบตกแต่งกันใหม่ให้เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ตนเองแต่ก็ยังคงตำแหน่งและเอกลักษณ์ของกางเกงยีนส์ Levi’s 501 ไว้เกือบทั้งหมดเลยที่เดียว เพราะถ้าไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้ มันก็ดูไม่เหมือนกางเกงยีนส์นะสิครับ ท่านผู้อ่านว่าจริงไหมครับ และต่อไปผมก็เห็นว่ามี รหัส Levi's 502 อยู่อีกด้วย มันเป็นอย่างไรเดี๋ยวเราค่อยไปดูในบทความต่อไปนะครับ

Jeansza สนับสนุนให้ทุกคนใส่ยีนส์