20 เรื่องกางเกงยีนส์ลีวายที่ต้องรู้!

กางเกงยีนส์ลีวาย คือ ยีนส์แบรนด์แรกของโลก ที่หลายคนหลงรักเมื่อได้สัมผัส เนื่องด้วยกาเกงยีนส์ลีวายมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน กว่า 140 ปี จึงทำให้มีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างมากมาย ครั้งนี้ผมจะแนะนำถึง รายละเอียด 20 รายการของกางเกงยีนส์ลีวาย (Levi's) ที่คุณควรรู้!

1.ป้ายเครื่องหมายการค้าลีวาย ในหนังสือต่างประเทศเรียก "Paper Tag" และ "The two hose patch" แต่คนไทยเราเรียกว่า "ป้ายหนังคอม้า" หากทำด้วยหนัง และ "ป้ายปะเก็น" หากทำด้วยกระดาษอย่างในภาพ ตั้งแต่ลีวายผลิตกางเกงยีนส์ขายในปี 1873 นั้น ยังไม่มีป้ายเครื่องหมายการค้านี้เกิดขึ้น จนถึงปี 1886 ผ่านมาอีก 13 ปี จึงได้มีเครื่องหมายการค้า "The Two Horse Patch" เพื่อแสดงถึงความแข็งแรงของกางเกงยีนส์ลีวาย ซึ่งป้ายเริ่มแรกนั้นทำด้วยหนัง (วัว) ติดไว้ที่บริเวณเอวด้านหลังขวามือ และต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นป้ายกระดาษ (Paper Tag) ในทศวรรษที่ 50 เนื่องจากต้องการลดต้นทุนในการผลิต เพราะมีการแข่งขันที่สูงมากในช่วงนี้

ป้ายเครื่องหมายการค้าลีวายส์

1.ป้ายเครื่องหมายการค้าลีวาย (Paper Tag) (The Two Horse Patch)

2.ป้ายแถบธงลีวาย (Flag Tab) บางคนเรียกป้ายริบบิ้น และส่วนใหญ่เรียกตามสีของป้าย เช่น สีแดง (Red Tab) สีส้ม (Orange Tab) เป็นต้น กางเกงยีนส์ลีวาย จะมีอะไรที่สะดุดตามากไปกว่าแถบผ้าชิ้นเล็กๆ สีแดงที่มีอักษรลีวาย สีขาว ติดไว้ข้างกระเป๋าหลังของกางเกงยีนส์ ซึ่งอันที่จริงแล้วตั้งแต่ปี 1873 ไม่เคยมีใครคิดและตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมที่ทรงพลังของแบรนด์ชิ้นนี้จนเวลาล่วงเลยมากว่า 63 ปี จึงได้มีการนำผ้าสีแดงชิ้นเล็กๆ และมีอักษรสีขาว มาติดไว้ในปี 1936

 

ป้ายธง ลีวายส์ (Flag Tag)

2.ป้ายธง ลีวาย (Flag Tab)

3.กระดุมลีวาย (Button Fly) ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เริ่มสร้างกางเกงยีนส์ลีวายตัวแรก ซึ่งเป็นรายละเอียดสำคัญของกางเกงยีนส์ลีวาย 501 ตั้งแต่ปี 1873 และไม่เปลี่ยนแปลง ถึงช่วงเวลาหนึ่งจะมีกางเกงยีนส์ลีวาย 501Zxx (Zip Fly) เกิดขึ้น แต่ก็จำต้องเปลี่ยนรุ่น 501 ที่เป็นซิปไปเป็นลีวาย 502 แทน ซึ่งรายละเอียดของกระดุมลีวายยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย

กระดุมลีวายส์ (Button Fly)
3.กระดุมลีวาย (Button Fly)

4.ซิปกางเกงยีนส์ลีวาย เทคโนโลยี ซิป เกิดขึ้นเมื่อปี 1891 หลังกางเกงยีนส์ลีวาย 501 ที่เป็นแบบกระดุม 18 ปี แต่ทางลีวายยังไม่คิดที่จะใช้ซิปกับกางเกงยีนส์ของเขาจนผ่านไป 74 ปี ในปี 1947 ลีวายจึงทดลองนำซิปมาติดไว้กับกางเกงยีนส์ลีวาย 501  และตั้งชื่อใหม่ว่า Levi's 501ZXX โดยหวังที่จะดึงดูดลูกค้าผู้หญิงได้ เนื่องจากผู้หญิงฝั่งตะวันตกได้สวมใส่กางเกงยีนส์ผู้ชายแบบกระดุมมาหลายปีแล้ว และผู้หญิงชายฝั่งตะวันออกก็กลับมองว่า กางเกงยีนส์แบบกระดุมนั้นขาดความนุ่มนวลและไม่เหมาะสำหรับสุภาพสตรี

ซิปลีวายส์ (Zip Fly)
4.ซิปลีวาย (Zip Fly)

5.กระเป๋าใส่นาฬิกา (Watch Pocket) เป็นกระเป๋าใบเล็กๆ เป็นชิ้นส่วนสำคัญชิ้นหนึ่งของกางเกงยีนส์ลีวาย ในอดีตกระเป๋าใบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใส่ นาฬิกาพ็อกเก็ต เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีนาฬิกาข้อมือ 

6.กระเป๋าใส่นาฬิกาลีวายส์ (Watch Pocket)
5.กระเป๋าใส่นาฬิกาลีวาย (Watch Pocket)

6.หมุดย้ำ (Rivets) เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดกางเกงยีนส์ลีวายขึ้นมา ถูกคิดค้นโดยนาย จาคอป เดวิส เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกางเกงยีนส์ ในอดีตถูกติดไว้หลายแห่ง เช่นเป้ากางเกง และมุมกระเป๋าหลังกางเกง แต่ต้องถอดออกไป เนื่องจากคำร้องเรียนของลูกค้าเช่น หมุดย้ำตรงเป้ากางเกง เวลาคาวบอยสวมใส่ไปผิงไฟรอบกองไฟ นานๆก็สะสมความร้อน หมุดย้ำตรงเป้าเกิดร้อนขึ้นและความร้อนไปสัมผัสกับผิวหนังน้องชายคาวบอยเข้า คงจะทรมานน่าดู นั่นแหละครับ เหตุผลที่ต้องถอดหมุดย้ำตรงเป้าออก

หมุดย้ำลีวายส์ (Rivets)
6.หมุดย้ำลีวาย (Rivets)

 7.แซ๊กกางเกงยีนส์ลีวาย (Bar Tacks) ต่างประเทศเรียก "บาร์แท็ก" คนไทยเรียก "แซ๊ก" อันที่จริงคำนี้ย่อมาจากคำว่า "ซิ๊กแซ๊ก" คือการเย็บด้ายแบบ ซิ๊กแซ๊ก นั่นแหละครับ เดิมทีเดียวตรงมุมกระเป๋าหลังของกางเกงยีนส์ลีวายจะตอกหมุดย้ำไว้ แต่เนื่องจากหมุดย้ำมักไปทำลายเฟอร์นิเจอร์ ให้เป็นรอยหรือขาด เวลานั่งลงไปจึงได้รับการร้องเรียนจากลูกค้า ทางลีวายจึงถอดหมุดย้ำด้านนอกออก เหลือเพียงหมุดย้ำซ่อนไว้ด้านใน และเส้นด้ายที่เย็บไว้ตรงมุมกระเป๋า และต่อมาก็ถอดหมุดย้ำด้านในออก จนเหลือเพียงด้ายที่เย็บ ซิ๊กแซ๊ก ติดไว้เท่านั้น รายละเอียดนี้ยังคงมีแซ๊กดำ,แซ๊กจม,แซ๊กลอย,แซ๊กทอง อย่างในภาพ ไว้ผมจะเขียนบทความ และนำภาพมาให้ดูนะครับ

7.แซ็กลีวายส์ (Bar Tags)
7.แซ๊กลีวาย (Bar Tacks) 

 

8.โค้งคันศรลีวาย (Arcuates) ไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องของ เส้นโค้งสองเส้นนี้เท่าไหร่นัก เนื่องจากหลักฐานต่างๆ ของลีวายได้ถูกไฟไหม้ไปหมด เมื่อครั้งเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่ซานฟรานซิสโก เส้นโค้งที่กระเป๋าหลังของกางเกงยีนส์ลีวายนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 1873 และจดทะเบียนสิทธิบัตรในปี 1943 ซึ่งบางคนก็จินตนาการว่า เป็นภูเขา หรือปีกนก และคันศรธนู แต่ที่สำคัญมันกลายเป็นสัญลักษณ์ของกางเกงยีนส์ลีวายมาตราบเท่าทุกวันนี้

โค้งคันศรลีวายส์ (Arcuates)
8.โค้งคันศรลีวาย (Arcuates)

9. เส้นด้ายสีส้มของกางเกงยีนส์ลีวาย (Color of thread) มีหลายคนสงสัยว่าทำไมกางเกงยีนส์ลีวายจึงใช้เส้นด้ายสีส้มในการเย็บกางเกงยีนส์ ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานใดแสดงเหตุผลนั้นออกมา เนื่องจากเรื่องราวของลีวายที่บันทึกไว้ได้ถูกไฟไหม้ไปหมดแล้ว แต่ที่สำคัญ เส้นด้ายสีส้มนี้มันเด่นสะดุดสายตาเมื่อเย็บลงไปบนผืนผ้าเดนิมสีน้ำเงินคราม

ด้ายสีส้มลีวายส์ (Color of thread)
9.ด้ายสีส้มลีวาย (Color of thread)

10.โลโก้ปีกค้างคาว (Bat Wing Logo) ที่เป็นสีแดงและมีอักษร Levi's สีขาว เป็นสัญลักษณ์อีกชิ้นหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ของกางเกงยีนส์ลีวาย โดดเด่นเหนือคู่แข่ง ซึ่งสัญลักษณ์นี้ก็มาจากลายด้านบนของกระเป๋าหลังนั่นเอง

โลโก้ ปีกค้างคาว (Bat wing logo)
10.โลโก้ ปีกค้างคาว (Bat wing logo)

11.ด้ายเดี่ยว (Single Stitched) ที่เรามักเรียกกันว่า "ซิงเกิ้ล" นั่นแหละครับ มันจะเป็นการเดินจักรเย็บด้าย ด้วยด้ายเส้นเดียวธรรมดา เนื่องจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีจักรเย็บผ้าสมัยนั้นมีความสามารถทำได้เพียงเท่านี้ ในบางส่วน ซึ่งการเดินเส้นด้ายเดี่ยวบริเวณขอบกระเป๋าหลังนั้นได้เลิกไปประมาณช่วงปี 1974 

ด้ายเดี่ยว (Single Stitched)
11.ด้ายเดี่ยว (Single Stitched)

 

 12.ด้ายลูกโซ่ (Chain Stitched) ภายหลังจากปี 1974 บริเวณขอบกระเป๋าหลังกางเกงยีนส์ลีวาย ได้ถูกเปลี่ยไปเป็นการเดินด้ายเย็บแบบลูกโซ่

ด้ายลูกโซ่ (Chain Stitched)
12.ด้ายลูกโซ่ (Chain Stitched)

13.สายรัดเอว (Back Belt, The Cinch) มันมีหน้าที่ปรับกระชับเอวให้พอดีกับผู้สวมใส่ตั้งแต่ปี 1873 เป็นต้นมา เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีเข็มขัดใช้ และปลายปี 1942 สายเข็มขัดเริ่มมีบทบาทกับกางเกงทั่วไป ในปี 1944 สายรัดเอวจึงถูกปลดออกไปจากด้านหลังของกางเกงยีนส์ลีวาย

สายรัดเอว (Back Belt)
13.สายรัดเอว (Back Belt)

14.รหัสหลังกระดุมลีวาย (Code Back Button) เป็นรหัสที่ตอกไว้สำหรับระบุโรงงานผลิตแต่ละแห่ง ซึ่งปัจจุบันมีมากมายทั่วโลก รหัสตัวเลขก็จะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศ

โค้ดตัวเลขหลังกระดุม (Code Back Button)
14.โค้ดตัวเลขหลังกระดุม (Code Back Button)

15.ป้ายแคร์ (Care Instruction Tag) ป้ายระบุการดูแลรักษา ป้ายนี้จะอยู่ด้านในกางเกงยีนส์ลีวาย ถูกเย็บติดไว้กับตะเข็บกางเกง ด้านหนึ่งจะระบุวิธีการทำความสะอาดยีนส์ และอีกด้านจะมีรหัสตัวเลขซึ่งสามารถบอก สถานที่ผลิต วันเดือนปี ที่ผลิต รุ่น ไซส์ และรหัสของผ้า

ป้ายแคร์ (Care Instruction Tag)
15.ป้ายแคร์ (Care Instruction Tag)

 16.การเย็บ วี สติ๊ด (V Stitched) การเดินเส้นด้ายเย็บเป็นรูปตัว V ลักษณะในภาพด้านล่าง มีวัตถุประสงค์เพื่อเย็บไปทับเส้นด้าย ที่เดินแบบลูกโซ่ตรงขอบกางเกงด้านล่าง เพื่อป้องกันการหลุดรุ่ย ของเส้นด้ายที่เดินแบบ ลูกโซ่ อาจหลุดอากมาโดยบังเอิญ ซึ่งการเย็บลักษณะนี้จะมีอยู่ในกางเกงยีนส์ลีวายปีเก่าๆ หรืองาน รีโปรดักส์ และ LVC

เย็บ วี สติ๊ด (V Stitched)
16.เย็บ วี สติ๊ด (V Stitched)

17.หูร้อยเข็มขัด (Belt Loop) เริ่มมีการใช้ตั้งแต่ปี 1944 ที่มีการถอด สายรัดเอว ด้านหลังออกไป ซึ่งในช่วงแรกๆ หูกางเกงที่อยู่ด้านหลังจะไม่ตรงกลาง เนื่องจากไม่สามารถเย็บให้แน่นได้ เพราะเนื้อผ้าจะหนามาก

หูร้อยเข็มขัด (Belt Loop)
17.หูร้อยเข็มขัด (Belt Loop)

 

18.ตะเข็บริมแดงลีวาย (Selvedg) ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญของกางเกงยีนส์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากมาจนทุกวันนี้ การเกิดริมสีขาวและมีเส้นด้ายสีแดงฝังอยู่นั้น เกิดจากเครื่องทอผ้าเดนิม หน้าแคบ และได้มีการเลิกผลิตไปในปี 1983

ตะเข็บริมแดง (Selvedge)
18.ตะเข็บริมแดง (Selvedge)

19.ตะเข็บริมโพ้งลีวาย (Non Selvege) ภายหลังจากเลิกผลิตผ้าหน้าแคบ ริมแดง ในปี 1983 ลีวายก็เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมการตัดเย็บแบบใหม่ มีการใช้เครื่องทอผ้าหน้ากว้างขึ้น ทำให้ได้จำนวนเนื้อผ้ามากขึ้น ตัดกางเกงจำนวนมากขึ้น หลังจากนี้ไป ทำให้ไม่มีกางเกงยีนส์ ริมแดง ที่ผลิตในอเมริกาอีกต่อไป แต่ด้วยความนิยมกางเกงยีนส์ ริมแดง จึงต้องมีการผลิต ย้อนยุค (Re-Production) กางเกงยีนส์ริมแดงขึ้นในภายหลัง

ตะเข็บริมโพ้ง (Non Selvedge)
19.ตะเข็บริมโพ้ง (Non Selvedge)

20.กระเป๋าหลังลีวาย (Back Pockets) เดิม กระเป๋ากางเกงยีนส์ลีวายมีเพียง 4 ใบ และหลายๆ คนคิดว่า กระเป๋าที่ถูกเพิ่มเข้าไปจนครบ 5 ใบอย่างในปัจจุบันนั้น ต้องเป็นกระเป๋าใส่นาฬิกา (Watch Pocket) แน่นอน จริงๆ แล้วไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง เพราะกระเป๋าใบที่ 5 ของกางเกงยีนส์ลีวายนั้นคือ กระเป๋าหลังด้านซ้ายมือนั่นเอง ซึ่งมีการเพิ่มเข้าไปในปี 1901

กระเป๋ายีนส์ลีวายส์ (Back Pockets)
20.กระเป๋ายีนส์ลีวาย (Back Pockets)

นี่คือ 20 รายการของกางเกงยีนส์ลีวาย ที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วในแต่ละรายการนี้ยังมีรายละเอียดแยกย่อยออกไปอีกมากมาย ซึ่งคุณเองก็คาดไม่ถึงใช่ไหมว่ากางเกงยีนส์มันมีอะไรที่น่าสนใจได้มากขนาดนั้นเชียวหรือ?

JeansZa สนับสนุนให้ทุกคนใส่ยีนส์